การกระจายตัวและชนิดของริ้นฝอยทรายพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ใน 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
คำสำคัญ:
ริ้นฝอยทราย, โรคลิชมาเนีย, พลีโบโตมัส, เซอร์เจนโตมัยเอียบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของริ้นฝอยทรายในแหล่งท่องเที่ยวใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพะเยา ดำเนินการในเดือน พฤศจิกายน 2559 ถึง พฤษภาคม 2560 โดยใช้กับดักแสงไฟ (Light Traps) เก็บตัวอย่างริ้นฝอยทราย ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ถึง 06.00 น. จังหวัดละ 1 พื้นที่ รวม 8 พื้นที่ ผลการศึกษาพบริ้นฝอยทรายทั้งสิ้นจำนวน 972 ตัว เพศผู้ 601 ตัว(61.8%) เพศเมีย 371 ตัว (38.2%) โดยจำแนกสกุล (Genus) และชนิด (Species) เฉพาะเพศเมียรวม 14 ชนิดพบว่าเป็นริ้นฝอยทรายสกุล Phlebotomus 263 ตัว (70.89%) สกุล Sergentomyia 108 ตัว(29.11%) โดยพบมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม ที่จังหวัดน่านซึ่งมีความหลากหลายของริ้นฝอยทราย 10 ชนิด รองลงมาคือ ลำพูน 6 ชนิด แม่ฮ่องสอน 5 ชนิด เชียงใหม่ 4 ชนิด ลำปาง 3 ชนิด แพร่,พะเยา 2 ชนิด และเชียงราย 1 ชนิด โดยริ้นฝอยทรายที่พบมากที่สุดคือ Phlebotomus major major จำนวน 169 ตัว (45.55%) รองลงมาได้แก่ P. argentipes จำนวน 67 ตัว (18.06%) Sergentomyia barruadi จำนวน 36 ตัว (9.70%) S. anodontis จำนวน 31 ตัว (8.35%) P. stantoni จำนวน 22 ตัว (5.92%) S. gemmea จำนวน 14 ตัว (3.77%) S. brevicaulis จำนวน 11 ตัว (2.96%) S. indica จำนวน 5 ตัว (1.35%) S. iyengari, S.dentata, และ P. colabaensis ชนิดละ 4 ตัว (1.08%) S. bailyi จำนวน 2 ตัว (0.54%) P. teshi และ S. hodgsoni - (0.27%) ชนิดละ 1 ตัว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการกระจายตัวและชนิด ริ้นฝอยทรายครั้งนี้จะนำมาจัดทำฐานข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังควบคุมพาหะนำโรคลิชมาเนียในภาคเหนือของประเทศไทย