ความต้านทานลูกน้ำยุงลายบ้านอิจิปไตย์ พาหะนำโรคไข้เลือดออก ต่อสารเคมีเทมีฟอส ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2558-2559
คำสำคัญ:
โรคไข้เลือดออก, ลูกน้ำยุงลายบ้านอิจิปไตย์, สารเคมีเทมีฟอสบทคัดย่อ
ประเทศไทยใช้สารเคมีเทมีฟอสในการควบคุมลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก มานานกว่า 50 ปี แต่ยังขาดระบบการติดตามประเมินระดับความต้านทานของลูกน้ำยุงลายต่อสารเคมีเทมีฟอส การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบระดับความไวต่อสารเคมีเทมีฟอสของลูกน้ำยุงลายบ้าน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ทำการเก็บตัวอย่างลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ปี 2558 และ 2559 ได้แก่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, ลำปาง, เชียงราย และแพร่, อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน, อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำลูกน้ำยุงลายในพื้นที่กลับมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณในห้องทดลอง และใช้ลูกน้ำยุงลายรุ่นถัดไป ระยะที่ 4 ทำการทดสอบสารเทมีฟอสที่ความเข้มข้น 0.012 มิลลิกรัมต่อลิตร แปรผลตามเกณฑ์การทดสอบความไวต่อสารเคมีกำจัดแมลงขององค์การอนามัยโลก ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่ลูกน้ำยุงลายบ้านมีความต้านทานต่อสารเทมีฟอสสูงต่อเนื่องในปี 2558-2559ได้แก่ จังหวัดน่าน (อัตราตาย 60 และ70) พบว่าจังหวัดที่ยุงลายเคยมีความไวต่อสารเคมีเทมีฟอส ในปี 2558 (อัตราตาย 100) แต่กลับพบว่ามีความต้านทานเกิดขึ้นในปี 2559 ได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเชียงใหม่ ลำปาง (อัตราตาย 34, 40, 62) ส่วนจังหวัดที่ยุงลายบ้านมีระดับความต้านทานเปลี่ยนจากกำลังเริ่มต้านทานสารเคมี เทมีฟอสเป็นต้านทานได้แก่แพร่ จังหวัดลำพูน และพะเยา มีจังหวัดเชียงรายแห่งเดียวที่พบว่ายุงลายมี อัตราตายเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 23 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 99 ในปี 2559 การศึกษาครั้งนี้แสดงว่า แนวโน้มการต้านทานของลูกน้ำยุงลายบ้านต่อสารเคมีเทมีฟอสเพิ่มมากขึ้นจากปี 2558 รวม 6 จังหวัด การเฝ้าระวังความต้านทานลูกน้ำยุงลายควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลนำไปสู่การเลือกใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย อย่างไรก็ตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ดี ทำได้ง่าย ประหยัด มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย คือการลดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
References
2.รายงาน 506 จากสำนักระบาดวิทยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เขตสุขภาพที่ 1. ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2559.
3.วิชัย สติมัย. การศึกษาการใช้สารเคมีและความต้านทานของยุงพาหะต่อสารเคมีในภาคตะวันออกของ ประเทศไทย. วารสารโรคติดต่อนำโดยแมลง. 2553; 7 (2):18-30
4.พรพรรณ สุนทรธรรม. 2555. รายงานการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการปัญหาโรคไข้เลือดออกด้วยทรายเทมีฟอส. สำนักงานอาหารและยา.
5.พรรณเกษม แผ่พร, กสิน ศุภปฐม และสุนัยนา สท้านไตรภพ. ความไวของยุงลายตามภาคต่างๆ ของประเทศไทยต่อสารเคมีกำจัดแมลงที่ใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก 2549-2553. วารสารโรคติดต่อนำโดยแมลง. 2553; 7(1): 8-16.
6.พรรณเกษม แผ่พร, สุนัยนา สท้านไตรภพ, พงศกร มุขขันธ์ และคณะ. 2559. ความไวต่อสารเคมีกำจัดแมลงของลูกน้ำและตัวเต็มวัยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti L.) พาหะนำโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา และ โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า.
7.World Health Organization. 1998. Techniques to detect insecticides resistance mechanisms (Field and laboratory manual) WHO/CDC/CPC/MAL/98;6.