การใช้มาตรการ RRTTR เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ต้องขัง ของเรือนจำจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

ผู้แต่ง

  • มนต์ทิวา สุนันตา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่

คำสำคัญ:

รูปแบบการจัดบริการ, การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ต้องขัง

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้มาตรการ RRTTR (Reach, Recruit, Test, Treat, and Retain) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ต้องขังของเรือนจำ และวิเคราะห์บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการ โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในประเด็นของรูปแบบการจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้กลุ่มผู้ต้องขังและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดบริการ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 6 คน ได้แก่ พยาบาลเรือนจำจังหวัด พยาบาลผู้ประสานงานโรคเอดส์ของโรงพยาบาล  ผู้รับผิดชอบงานเอดส์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ของจังหวัด โดยใช้แนวทางการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีตามมาตรการ RRTTR  ของกรมควบคุมโรค เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของรูปแบบบริการและบทบาทของผู้เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน 2561  ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบบริการดังกล่าวมีการดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรการ RRTTR  ทำให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการป้องกัน 198 ราย ซึ่งบริการดังกล่าวเหมาะสมกับบริบทของเรือนจำที่มีผู้ต้องขังเข้าออกทุกเดือน ทำให้ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงได้ทราบผลเลือดและเข้ารับการรักษาได้รวดเร็วกว่าการตรวจคัดกรองประจำปี โดยมีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้บริการเชิงรุกแบบกลุ่มในผู้ต้องขังรายใหม่ และมีแกนนำผู้ต้องขังให้บริการเชิงรุกแบบรายบุคคลเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเพื่อนผู้ต้องขังในการเปิดเผยปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้การจัดบริการป้องกันเอดส์ในเรือนจำได้เพิ่มการจัดระบบเบิกจ่ายถุงยางอนามัยอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่าย ช่วยดูแลให้มีการป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมาตรการ RRTTR สามารถดำเนินการได้ในเรือนจำแห่งนี้ อย่างไรก็ตามควรเพิ่มกิจกรรมเพื่อส่งเสริมผู้ที่มีผลเลือดลบและมีความเสี่ยง ให้มีการเจาะเลือดซ้ำทุก 6 เดือน และมีระบบสารสนเทศเพื่อการบันทึกข้อมูลและส่งต่อข้อมูลเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป

References

กรมราชทัณฑ์. (2561). สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ [online]. [สืบค้นเมื่อ 20 ก.ย. 2561]; แหล่งข้อมูล: http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2018-09-01&report=

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์. (2559). แผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์ประเทศไทย พ.ศ. 2558–2562. กรุงเทพมหานคร: เอ็นซี คอนเซ็ปต์ จำกัด.

เครือทิพย์ จันทรธานีวิวัฒน์, ภัทรษราณี ชนะแก้ว, มนสิชา พูนสวัสดิ์ และคณะ. (2553). โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษาเอ็ชไอวีในกลุ่มผู้ต้องขัง. วารสารโรคเอดส์, 22(2), 93-101.

ชญาภา ศิลาพิชิต. (2559). มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในเรือนจำ. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต. คณะนิติศาสตร์: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.

ชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์. (2557). ความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของผู้ต้องขังชาย กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ [online] [สืบค้นเมื่อ 20 ก.ย. 2561 ]; แหล่งข้อมูล: URL: http://aidssti.ddc.moph.go.th/researchs/view/2863

ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ, บรรณาธิการ. (2560). ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573. กรุงเทพมหานคร: เอ็นซี คอนเซ็ปต์ จำกัด.

บุญเนียม วงค์ใจคำ. (2561). รายงานสรุปผลการดำเนินงานติดตามประเมินผลวางแผนงานรณรงค์การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ HIV/AIDs ในกลุ่มผู้ต้องขังและโครงการที่ร่วมดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปี 2561. การประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานติดตามประเมินผลวางแผนงานรณรงค์การ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ HIV/AIDs ในกลุ่มผู้ต้องขังและโครงการที่ร่วมดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปี 2561. เชียงใหม่: ประเทศไทย.

สำนักบริหารการสาธารณสุข. (2559). แนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ. สมุทรสาคร: บอร์น ทู บี พับลิชชิ่ง จำกัด.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27