ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูงในตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
คำสำคัญ:
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง, การควบคุมระดับน้ำตาล, ความดันโลหิตบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ป่วยทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในพื้นที่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านร่มหลวง (รพ.สต. บ้านร่มหลวง) ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ประกอบด้วย ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ครอบครัว/ญาติ อสม., ผู้นำชุมชน/ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งสิ้น 58 คน เก็บข้อมูลโดยอาศัยข้อมูลมือสองจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย แบบทดสอบความรู้ในเรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การสัมภาษณ์เชิงลึกการสนทนากลุ่มย่อยและการสังเกต ระยะเวลาศึกษา ตั้งแต่เดือน มกราคม 2554 ถึง เดือนธันวาคม 2554 ผลการศึกษา พบว่า (1) การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จากจำนวนผู้ป่วย 20 ราย มีจำนวน 7 ราย ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้ดีและ 13 รายยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้ และ (2) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตของผู้ป่วย ได้แก่ หนึ่งการมีปัจจัยเสี่ยงหลักหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิต มีพฤติกรรมเสี่ยงหลักอยู่น้อย ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำ ตาลและความดันโลหิต ยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงสูง ทั้งการบริโภคที่ไม่เหมาะสมทานอาหารหวาน มัน เค็ม ยังคงชอบทานประเภท เนื้อสัตว์มากกว่าผักผลไม้และบางรายดื่มเหล้าเป็นประจำ มีการออกกำลังกายบ้างแต่ไม่สม่ำ เสมอ บางรายทำงานหนักและหักโหมไม่มีเวลาพักผ่อน มีความเครียดและความกังวลอยู่มาก ผู้ป่วยมักลืมหรือทานยาไม่ครบและไม่ตรงเวลาและไม่พบแพทย์ตามนัด สอง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย ประกอบด้วยการสนับสนุนของครอบครัว/ญาติซึ่งพบว่า ครอบครัว และญาติในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ยังมีบทบาทการสนับสนุนที่จำกัด เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเข้ามามีส่วนในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ในชุมชนยังมีภัยคุกคามและสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ไม่เอื้อต่อผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ การเลี้ยงอาหารในงานต่าง ๆ ในชุมชนที่จัดขึ้นบ่อย ซึ่งเสี่ยงต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตของผู้ป่วย รวมถึงการ มีและเข้าถึงเหล้า-เบียร์ได้ง่าย และ สาม ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ จากการระบบบริการสาธารณสุขของ รพ.สต.บ้านร่มหลวง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยการเสริมศักยภาพแก่ครอบครัวและญาติในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการให้กำลังใจและเสริมพลังผู้ป่วยในการดูแลตนเอง
References
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยมหิดล.แบบแผนการบริโภค และการดำรงชีวิตที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพ. แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554-2563.;2553: 7-11.
สุพัตรา ศรีวณิชชากร. ปรับตัว ปรับระบบอย่างไร ให้สอดคล้องกับโรคเรื้อรัง. วารสารระบบบริการปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัว 2554; 2(6): 4-6.
สุพัตรา ศรีวณิชชากร, สตางค์ ศุภผล, ทัศนีย์ ญาณะ และคณะ. กระบวนการพัฒนาระบบจัดการ เบาหวานและความดันโลหิตสูงแบบบูรณาการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.). ใน: ลัดดา ดำริการเลิศ, บรรณาธิการบริหาร. การจัดการความรู้และสังเคราะห์แนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล: การจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กรณีเบาหวานและความดันโลหิตสูง.กรุงเทพมหานคร: สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง จำกัด; 2553: 41-123.
วิชัย เทียนถาวร. 3อ.วัคซีนชีวิตสร้างได้ด้วย “มือเรา”. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2555 กรกฎาคม 5; กระแสทรรศน์: 6.
วิมลรัตน์ จงเจริญ, วันดี คหะวงค์, รังศุมา อภิชาโต และคณะ. การส่งเสริมการดูแลตนเอง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด. สงขลานครินทร์เวชสาร 2551;26(1): 73-84.
วิโรจน์ เจียมจรัสรังสี. ต้นแบบการดูแลโรคเรื้อรังภาคขยาย. วารสารระบบบริการปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัว 2554; 2(6): 48- 56.
อมรา ทองหงษ์, กมลชนก เทพสิทธา, ภาคภูมิจง พิริยะอนันต์. รายงานการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี พ.ศ. 2554. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2556,44: 146-148.
Lerman I. Adherence to treatment: the key for avoiding long-term complication of diabetes. Arch Med Res 2005; 36: 300-6.