สภาวะฟันผุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับฟันผุของเด็กชาวไทยพื้นราบและไทยภูเขา อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
คำสำคัญ:
สภาวะฟันผุ, เด็กนักเรียนชาวไทยพื้นราบ, เด็กนักเรียนชาวไทยภูเขาบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาวะฟันผุและศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับฟันผุของเด็กนักเรียนชาวไทยพื้นราบและเด็กนักเรียนชาวไทยภูเขาทั้งหมดที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปี พ.ศ. 2555 อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 221 คน เป็นเด็กชาวไทยพื้นราบ 91 คน และเด็กชาวไทยภูเขา 130 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ และแบบสำรวจภาวะสุขภาพช่องปากพบว่า เด็กชาวไทยพื้นราบมีปัญหาฟันผุ ร้อยละ 43.9 และเด็กชาวไทยภูเขามีปัญหาฟันผุ ร้อยละ 42.3 กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงร้อยละ 48.1 และเพศชายร้อยละ 38.5 ผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับเด็กนักเรียนมีปัญหาฟันผุสูงกว่าผู้ปกครองที่มีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับร้อยละ 51.9 และ 40.1 ตามลำดับ ผู้ปกครองที่มีอาชีพค้าขายเด็กนักเรียนมีปัญหาฟันผุมากที่สุดร้อยละ 75.0 รองลงมาคือผู้ปกครองที่มีอาชีพรับราชการ ร้อยละ 66 และเด็กนักเรียนที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อ-แม่มีปัญหาฟันผุสูงกว่าเด็กนักเรียนที่ถูกเลี้ยงดูโดยญาติร้อยละ 43.4 และ 40.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเพศของเด็กนักเรียน ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง อาชีพของผู้ปกครองและผู้ให้การเลี้ยงดูกับปัญหาฟันผุของเด็กนักเรียนประถมศึกษาปี ที่ 6 ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุของเด็ก ส่วนเด็กนักเรียนที่รับประทานอาหารว่างมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน มีปัญหาฟันผุสูงกว่าเด็กที่เด็กที่รับประทานอาหารว่างน้อยกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 68.2 และ 22.3 ตามลำดับ สำหรับความถี่ในการรับประทานต่อวันและความถี่ของการแปรงฟันกับปัญหาฟันผุของเด็กนักเรียนมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการออกปฏิบัติงานอนามัยโรงเรียน นอกจากตรวจสุขภาพในช่องปากและให้การรักษาตามความเหมาะสมแล้วควรเพิ่มการให้ทันตสุขศึกษาแก่เด็กนักเรียนทุกคนและควรให้ผู้บริหารของโรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันและจัดให้มีสถานที่แปรงฟันในโรงเรียนอย่างเหมาะสม
References
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ก ระทรวงสาธารณสุข.รายงานผลการสำรวจทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ.2543 - 2544; 2545.
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. รายงานผลการสำรวจ: สภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549 - 2550. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข; 2551.
ขนิษฐ์ รัตนรังสิมา, ปิยะดา ประเสริฐสม. สถานการณ์ทันตสุขภาพนักเรียนประถมศึกษาและการจัดบริการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนจากผลการสำรวจระดับจังหวัดปี 2548 - 2550. ว.ทันต. สธ 2552; 14: 48-57.
ฝ่ายทันตสาธารณสุข กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและบริการสาธารณสุขสานักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่. รายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2546. สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่; 2546.
ฝ่ายทันตสาธารณสุข กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและบริการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่. รายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2551. สานักงานสาธารณสุข จังหัดเชียงใหม่; 2553.
วีณะ วีระไวทยะ และสง่า ดามาพงษ์. พฤติกรรมการบริโภคอาหาร. สำนักพัฒนาวิชาแพทย ์กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2541.
สุดาดวง เกรันพงษ์. คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ตอนที่ 1: หลักการและความเป็นมา วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550; 16:17-25.
สุภัทรา สนธิเศวต. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะสุขภาพช่องปากของเด็กอายุ 3-5 ปี อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตร มหาบัณฑิตบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2551.
สุบิน สุนันต๊ะ. พฤติกรรมการของเด็กนักเรียนประถมศึกษา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ สาธารณสุขศาสตร มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2551.
World Health Organization. Oral Health Survey Basic Methods 1997; (Online). Available from:http://www2.alliance-hpsr.org/bookorders.Accessed on 13 January 2011.