ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม
บทคัดย่อ
สุขภาพทางสังคมหรือสุขภาวะทางสังคมเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยดีในครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน สังคมและโลก ซึ่งรวมถึงการมีบริการทางสังคมที่ดีและมีสันติภาพ แต่ด้วยความพรั่งพร้อมทางวัตถุยึดถือวัตถุมากกว่าจิตใจหรือคุณค่าของความเป็นคนที่มิได้ทำให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขกลับนำไปสู่การบั่นทอนสุขภาพทั้งทางกาย จิต สังคมและจิตวิญญาณอย่างมาก การทำมาหากินที่จำเป็นต้องดิ้นรนต่อสู้กับความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก่งแย่งกันในอาชีพการงานและรายได้ทาให้เกิดความเครียด ปัญหาสุรา ยาเสพติด อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย การเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งอิทธิพลทางลบของสื่อมวลชนและการรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาโดยขาดการเลือกสรรคัดกรอง เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพตามมา นอกจากนี้ภาวะความเป็นเมืองหรือ ภาวะความทันสมัยไม่ได้มีผลต่อประชากรในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อรูปแบบทางสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในด้านค่านิยมและรูปแบบการประกอบอาชีพ รวมถึงการดูดซับวัฒนธรรม (Cultural assimilation) ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีอิทธิพลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินชีวิตของประชาชนไทยได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมไทยยุคใหม่ ที่สังคมกับวิทยาศาสตร์มิได้แบ่งเขตแดนกันแบบต่างคนต่างอยู่ ตรงกันข้ามมีขอบเขตที่เลือนลาง และผสมผสานเข้าหากันมากขึ้น ทั้งสังคมและวิทยาศาสตร์มีวิวัฒนาการร่วมกันภายใต้แรงผลักดันร่วม การวิวัฒน์ร่วมของวิทยาศาสตร์และสังคมมีผู้วิเคราะห์แนวโน้มที่น่าวิตกไว้หลายประการ คือ การขยายอำนาจของชนชั้นนำทางเทคนิควิธีการร่วมมือกันของชนชั้นนำทางการเมืองและชนชั้นนำทางเทคนิควิธี ปฏิฐานนิยมที่มองข้ามความรู้ท้องถิ่นและมองผ่านการให้คุณค่าเชิงอัตวิสัย ลักษณะดังกล่าวข้างต้นทำให้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องทางวิทยาศาสตร์ในสังคมตกอยู่ภายใต้ผู้ที่ขนานนามตนเองว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่ “สังคมเสี่ยงภัย” (Risk society) ใน “สังคมเสี่ยงภัย” นี้ประชาชนส่วนหนึ่งจะได้รับภัยที่ตนเองไม่ได้ก่อแต่ภัยเหล่านั้นเกิดจากการตัดสินใจของ “ผู้เชี่ยวชาญ” บางกลุ่มเท่านั้น ภัยที่ได้รับนี้อาจจะแสดงออกมาในรูปอาการป่วยทั้งทางสังคม ร่างกาย และจิตใจ (สุริชัย หวันแก้ว และคณะ, 2549)
References
ดรุวรรณ สมใจ. ผลกระทบของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่มีต่อแนวโน้มการฆ่าตัวตายของประชากรในระดับจังหวัดของประเทศไทย.วารสารวิชาการสาธารณสุข 2555; 21(2): 251–262.
พรรณปพร ลีวิโรจน์. วิถีชีวิตพอเพียงกับสุขภาพ. 2552. จาก http://swhcu.net/km/mk-articles/ sw-km/104-w-health.html.
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. รายงานสุขภาพคนไทย 2556: ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพิ่มพลังพลเมือง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล. 2556. 195.
สายศิริ ด่านวัฒนะ. ออกกำลังกายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อสุขภาวะสังคมประชาธิปไตย. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. 2553: 149.
สุริชัย หวันแก้ว, ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย, อลิสา หะสาเมาะ และชาญชัย ชัยสุข โกศล. วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาวะทางสังคม: การริเริ่มจากเยาวชน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). 2549: 172.
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ความสุขกับสุขภาพ. 2551.จาก http://www.doctor.or.th/article/ detail/1164
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. ธุรกิจไทยกับความเสี่ยงสูงภาวะการจ้างงาน. 2555. จาก http:// www. bangkokbiznews.com
Bayard R, et al. An exploration of social determinants of health amongst internally displaced persons in northern Uganda. 2009. From http://www.conflictandhealth.com/
World Health Organization. Social determinants of health. 2010. From http:// www.who.int/social_determinants/en/