การประเมินผลการดำเนินงานควบคุมโรคมาลาเรียโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 43 จังหวัด ภายใต้โครงการกองทุนโลกรอบที่ 7: การประเมินผลเชิงนโยบายและผลกระทบการดำเนินงาน

ผู้แต่ง

  • ประยุทธ สุดาทิพย์ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
  • เสาวนิต วิชัยขัทคะ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
  • สุธีรา พูลถิน สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค

คำสำคัญ:

การประเมินผล, มาลาเรีย, ผลผลิต, ผลลัพธ์, ผลกระทบ

บทคัดย่อ

โรคมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน การเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติและสถานการณ์ความไม่สงบของบางจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค กรมควบคุมโรคจึงได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนโลกด้านมาลาเรียรอบที่ 7 เพื่อลดการติดเชื้อในกระชากรกลุ่มเสี่ยงและลดจำนวนหมู่บ้านที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการของแรงงานต่างด้าวระหว่างปี 2551-2556 การประเมินผลครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบโครงการระยะที่ 1 เพื่อนำผลการประเมินที่ได้ไปเป็นข้อเสนอแนะปรับปรุงและบูรณาการกิจกรรมโครงการฯ ให้สอดคล้องกับโครงการกองทุนโรครอบที่ 10 ซึ่งจะดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2554 – กันยายน 2556 ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาประกอบด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มาลาเรียคลินิกชุมชน (Malaria Post) และประชากรในหมู่บ้านแพร่เชื้อมาลาเรียที่ได้จากการสุ่มตัวอย่าง ข้อมูลสำหรับการประเมินเก็บรวบรวมจากระบบรายงานและการสำรวจความรู้ การรับรู้และการป้องกันเกี่ยวกับมาลาเรียและแบบสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการของมาลาเรียคลินิกชุมชน ผลการประเมินพบว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการระยะที่ 1 สถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลงโดยอัตราการตายด้วยโรคมาลาเรียต่อประชากรแสนคนและอัตราการเกิดโรคมาลาเรียต่อประชากรพันคนลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนหมู่บ้านที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียซึ่งลดลงร้อยละ 13.83 อย่างไรก็ตามอัตราการป่วยด้วยโรคมาลาเรียยังคงสูงกว่าเป้าหมายและมีอัตราเพิ่มขึ้นใน 23 จังหวัด นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการพบเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วยต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 6 เดือนลดลงเพียงร้อยละ 1.03 แสดงถึงการควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งเห็นได้จากประชาชนมีมุ้งชุบสารเคมีสำหรับกางนอนป้องกันยุงกัดเพียงร้อยละ 58.90 และมีอัตราการนอนในมุ้งชุบสารเคมีในคืนก่อนการสำรวจเพียงร้อยละ 47.40 ถึงแม้จะมีมาลาเรียคลินิกชุมชนให้บริการตรวจรักษามาลาเรียในหมู่บ้านที่อยู่อาศัยและส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของมาลาเรียคลินิกชุมชน แต่พบว่า สัดส่วนของประชาชนมารับบริการตรวจรักษามาลาเรียภายในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียต่ำ (A2) เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคมาลาเรียบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการเร่งรัดส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แพร่เชื้อต่ำ (A2) ซึ่งมีความครอบคลุมของมุ้งชุบสารเคมี การใช้มุ้งชุบสารเคมีและการมารับการตรวจรักษารวมเร็วต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ควรเร่งรัดการพัฒนากิจกรรมการดำเนินงานพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลการประเมินพบว่า ประชากรเป้าหมายยังมีความรู้ การรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันไข้มาลาเรียที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียต่ำ (A2)

References

พิสณุ ฟองสี. เทคนิควิธีประเมินโครงการ. กรุงเทพฯ: บริษัทสุทธาการพิมพ์; 2551.

เยาวดี รางชัยกูล. การประเมินโครงการแนวคิดและแนวปฏิบัติ; กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.

สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธ์. การประเมินผลโครงการ: หลักการและการประยุกต์. Project Evaluation: Principles and Applications 3ed; กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง; 2542. 314 หน้า.

สำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก. รายงานประจำปี 2551-2552. กรมควบคุมโรค, 2553.

สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง. รายงานประจำปี 2553. กรุงเทพฯ: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2553. 122 หน้า.

Department of Disease Control. Partnershiptowards malaria reduction in Migrant and conflict-affected population in Thailand project supported by The Global Fund to Fight AIDS, TB, Malaria (GFATM) Round 7.Thailand: The Global Fund to Fight AIDS, TB, Malaria (GFATM); 2007.

Ezemenari AR, Subbarao K. Impact Evaluation: A Note on Concepts and Methods. Poverty Reduction and Economic Management Network. The World Bank, 1999.

Gilles HM., Warrell DA. Bruce-Chwatt’s wssential malariology. London: Arnold; 1993.

Rosner B. Fundamentals of Biostatistics. 6ed. USA: Thomson; 2006.

WHO. Monitoring and evaluation toolkit: HIV/AIDS, tuberculosis and malaria: The Global Fund to Fight AIDS, TB, Malaria, 2009.

WHO. Strategic Plan to Strengthen Malaria Control and Elimination in the Greater Mekong Subregion: 2010-2014. Bangkok: Mekong Malaria Programme, 2009.

WHO. World Malaria Report 2010. Geneva: 2010.

WHO. World Malaria Report 2011. Geneva: 2011.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-21

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป