ต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ชัชวาลย์ ศิรินิรันดร์ โรงพยาบาลนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่.

คำสำคัญ:

ต้นทุนต่อหน่วย, การวิเคราะห์ต้นทุน, โรงพยาบาลนครพิงค์

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาต้นทุนดำเนินการต่อหน่วยผู้รับบริการของโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ปีงบประมาณ 2552 เก็บข้อมูลย้อนหลังโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลตามองค์ประกอบต้นทุน จำแนกเป็นต้นทุนค่าแรงและต้นทุนค่าวัสดุ จำแนกหน่วยงานภายในออกเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะหน้าที่ คือ กลุ่มหน่วยต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กลุ่มหน่วยต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ กลุ่มหน่วยงานที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรง และกลุ่มหน่วยงานให้บริการอื่น ๆ ต้นทุนแบ่งออกเป็นต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม ต้นทุนทางตรงของกลุ่มหน่วยต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และกลุ่มหน่วยต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้จะถูกจัดสรรให้เป็นต้นทุนทางอ้อมของกลุ่มหน่วยงานที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรงและหน่วยงานให้บริการอื่น ๆ โดยใช้วิธีสมการพีชคณิตเส้นตรง (Simultaneous equation method) โดยต้นทุนต่อหน่วยวิเคราะห์จากต้นทุนรวม หารด้วยผลลัพธ์หรือผลผลิตของกลุ่มหน่วยต้นทุนที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรง

ผลการศึกษาพบว่าโรงพยาบาลนครพิงค์ มีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 1,006,612,951.31 บาทแยกเป็นต้นทุนค่าแรงจำนวน 478,679,163.74 บาท คิดเป็นร้อยละ 47.55 และต้นทุนค่าวัสดุจำนวน 527,933,787.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 52.45 ต้นทุนค่าแรงส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและค่าจ้างร้อยละ 60.09 รองลงมาเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานล่วงเวลา ร้อยละ 20.9 ในด้านต้นทุนค่าวัสดุ ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่ายา ร้อยละ 63.7 รองลงมาคือต้นทุนค่าวัสดุการแพทย์ ร้อยละ 22.8 เมื่อคำนวณต้นทุนดำเนินการต่อหน่วยผู้รับบริการ พบว่า ต้นทุนต่อหน่วยประเภทผู้ป่วยนอก เท่ากับ 979.23 บาท ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยผู้รับบริการประเภทผู้ป่วยใน 10,739.25 บาท ต้นทุนต่อวันนอนของผู้ป่วยใน 2,743.29 บาท และต้นทุนต่อ 1 หน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ (Adjusted Relative Weight, RW) เท่ากับ 8,786.86 บาท

ต้นทุนดำเนินการต่อหน่วยผู้รับบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลนครพิงค์ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นในระดับเดียวกันขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยผู้ป่วยในมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน แต่อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบต้นทุนเทียบกับสถานบริการอื่น ๆ จำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดถึงเกณฑ์การกระจายต้นทุนว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนากระบวนการศึกษาต้นทุนโรงพยาบาลนครพิงค์ ให้ต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต้นทุน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการเงินการคลังของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

References

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. บัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2537 - 2544. เอกสารคัดสำเนา, 2547.

พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข. ค่านิยมของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน: เอกสารประกอบการศึกษาเพื่ออนาคตและเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืนของประเทศไทย: สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย, รายงานประจำปี 2552,2552.

อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล และคณะ. คู่มือการวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลทั่วไป. กรุงเทพมหานคร: วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข, 2540.

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546, 2546, 9 ตุลาคม. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 120 ตอนที่ 100 ก.: 1-16.

เกษม ตั้งเกษมสำราญ. ต้นทุนต่อหน่วยการบริการและอัตราการคืนทุนของโรงพยาบาลชาติตระการ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ก.ค. – ก.ย. ฉบับเสริม 1, 2550: 35-44.

ธีระศักดิ์ วงศ์ใหญ่. เปรียบเทียบต้นทุนต่อหน่วยผู้รับบริการและสิทธิบัตรผู้รับบริการโรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา ปีงบประมาณ 2548 – 2552, 2553

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-27

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป