ความไวของแบบคัดกรองวัณโรคสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์

ผู้แต่ง

  • ศรีเกษ ธัญญาวินัชกุล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์
  • ระวี ยกบัตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์

คำสำคัญ:

การคัดกรองวัณโรคผู้ต้องขังในเรือนจำวัณโรค

บทคัดย่อ

         การวิจัยเรื่องความไวของแบบคัดกรองวัณโรคสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความไวของแบบคัดกรองวัณโรคของสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้ในการคัดกรองวัณโรคเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนารูปแบบการคัดกรองวัณโรคที่เหมาะสมในเรือนจำต่อไป โดยกลุ่มศึกษาคือผู้ต้องขังทุกรายที่ถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2552 จำนวน 856 คนดำเนินการวิจัยโดยการสัมภาษณ์ตามแบบประเมินความเสี่ยงต่อวัณโรค ของสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การวินิจฉัยโรคโดยการเอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะโดยใช้กล้องจุลทรรศน์และการส่งเสมหะตรวจเพาะเชื้อวัณโรค

         ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 21-40 ปีคิดเป็นร้อยละ 68.6 มีจำนวนเพศชายมากกว่าเพศหญิงคือ ร้อยละ 87.6 และ 12.4 ตามลำดับ จากการคัดกรองตามแบบประเมินความเสี่ยงต่อวัณโรค พบว่าส่วนใหญ่ผู้ต้องขังไม่มีอาการแสดงของวัณโรค คิดเป็นร้อยละ 87.4 และมีอาการแสดงของวัณโรคคิดเป็นร้อยละ  12.6 ผลการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่า มีปอดผิดปกติพบรอยวัณโรคจำนวน 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.8 ผลการตรวจเสมหะโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ และเพาะเชื้อวัณโรค พบผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 15 รายคิดเป็นร้อยละ 1.75 จำแนกเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อจำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.70 และผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะไม่แพร่เชื้อจำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.05 ผู้ต้องขังที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอด เพราะว่าไม่มีอาการแสดงของโรคจำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.0 และมีอาการของโรคจำนวน 3 รายคิดเป็นร้อยละ 20 จากการศึกษาความไวของแบบคัดกรองวัณโรคต่อภาพถ่ายรังสีทรวงอก (ฟิล์มเล็ก) พบรอยวัณโรคพบว่าอาการแสดงตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป มีความไวต่อการคัดกรองวัณโรคปอดร้อยละ 36.58 เมื่อจำแนกตามแบบคัดกรองวัณโรคแต่ละข้อพบว่า อาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดปนมีไข้ตอนบ่าย ๆ ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปและน้ำหนักลด 3-5 กก./เดือน มีความไวต่อการคัดกรองวัณโรคปอดร้อยละ 14.6, 4.88, 9.76 และ 2.44 ตามลำดับ ส่วนอาการมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ไม่มีความไวในการคัดกรองวัณโรคปอดเมื่อประเมินความสัมพันธ์แล้วพบว่า มีอาการตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป อาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ไป มีเลือดปนและมีไข้ตอนบ่าย ๆ ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีความสัมพันธ์ต่อภาพถ่ายรังสีทรวงอกด้วยฟิล์มและพบรอยวัณโรคอย่างมีนัยสำคัญ (p-value<0.005) ส่วนอาการมีเหงื่อออกตอนกลางคืนและมีน้ำหนักลด 3-5 กก./เดือน ไม่มีความสัมพันธ์ต่อภาพถ่ายรังสีทรวงอก (ฟิล์มเล็ก) พบรอยวัณโรคการคัดกรองโรค เป็นการแยกบุคคลที่สงสัยป่วยด้วยโรคนั้นๆ ออกจากบุคคลปกติซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งต่อพบแพทย์ให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อไป ดังนั้นการทดสอบการคัดกรองโรคควรมีค่าความไวร้อยละ 100 หรือมากที่สุด จากผลการวิจัยนี้พบว่าแบบคัดกรองวัณโรคจำนวน 5 ข้อของสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความไวต่อการคัดกรองโรคในเรือนจำค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ที่มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคปอดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่ระบบการวินิจฉัยและรักษา ประกอบกับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำที่ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด และมีการระบายอากาศที่ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้มีโอกาสเกิดแค่กระจายเชื้อวัณโรคในเรือนจำค่อนข้างสูง และเมื่อผู้ป่วยวัณโรคมีอาการรุนแรงขึ้น หากเข้าสู่ระบบการรักษาช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีแบบคัดกรองวัณโรคที่มีความไวสูง ดังนั้นการคัดกรองวัณโรคในเรือนจำซึ่งเป็นสถานที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อได้ง่าย ควรมีการตรวจเอกซเรย์ปอดควบคู่ไปด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและควรตรวจเอกซเรย์ปอดในผู้ต้องขังใหม่ ก่อนรับเข้าในเรือนจำทุกรายจนกว่าจะมีการศึกษาและพัฒนาแบบคัดกรองวัณโรคในเรือนจำที่มีความไวสูงที่สามารถคักรองครอบคลุมกลุ่มที่ป่วยเป็นวัณโรคได้ทุกราย

References

ประวิทย์ สุนทรสีมะ, นราพร พิชัยณรงค์. วิทยาการระบาดและการควบคุมโรคติดต่อ. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนะการพิมพ์, 2531.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์. คู่มือการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคจังหวัดอุตรดิตถ์, 2552

สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการเร่งรัดการควบคุมวัณโรคในเรือนจำของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์, 2552.

สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. แนวทางการดำเนินงานชันสูตรวัณโรคแห่งชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา : ISBN: 974-297-224-9, 2547.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-27

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป