การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่เขต 10 ปีงบประมาณ 2547
คำสำคัญ:
ต้นทุนต่อหน่วย, การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกบทคัดย่อ
การวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้วางระบบในการจ่ายค่าตอบแทน และอุดหนุนการจัดบริการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาองค์ประกอบ และต้นทุนต่อหน่วย ในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในมุมนองของผู้ให้บริการ และเพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ของพื้นที่เขต 10 วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยการเก็บข้อมูลต้นทุนย้อนหลัง เป็นระยะเวลา 1 ปี ต้นทุน ที่ศึกษาประกอบด้วย ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ และต้นทุนค่าลงทุน ซึ่งคิดเฉพาะต้นทุนค่าเสื่อมราคาของครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ใช้วิธีเลือกพื้นที่ศึกษา ด้วยวิธี Cluster Sampling โดยแบ่งเป็น 2 Cluster คือ จังหวัดลำพูนเป็นตัวแทนของกลุ่มจังหวัดเล็ก และลำปาง เป็นตัวแทนของกลุ่มจังหวัดใหญ่ ผลการศึกษา พบว่าจังหวัดตัวอย่างมีต้นทุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก รวมทั้งสิ้น 46,674,168.85 บาท ต้นทุนค่าแรง เท่ากับ 25,248,065.38 บาท (ร้อยละ 54.09๗ ต้นทุนค่าวัสดุ เท่ากับ 18,109,471.16 บาท (ร้อยละ 38.80) และค่าลงทุน เท่ากับ 3,316,632.31 บาท (ร้อยละ 7.11) ต้นทุนต่อหน่วยประชากร เท่ากับ 39.43 บาท/คน และเท่ากับ 132.41 บาท/หลังคาเรือน สัดส่วนต้นทุนค่าแรง : ค่าวัสดุ : ค่าลงทุน เท่ากับ 7.61 : 5.46 : 1 เมื่อวิเคราะห์เป็นจังหวัดแล้วพบว่า จังหวัดลำพูน มีต้นทุนต่อหน่วยประชากรเท่ากับ 43.31 บาท/คน และ 156.66 บาท/หลังคาเรือน จังหวัดลำปางมีต้นทุนต่อหน่วยประชากรเท่ากับ 37.87 บาท/ราย และ 121.46 บาท /หลังคาเรือน ตามลำดับ สรุปและวิจารณ์ การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนค่าแรงมีอิทธิพลสูงสุดต่อต้นทุนรวมทั้งหมดของการดำเนินการ รองลงมาเป็นค่าวัสดุ สำหรับค่าวัสดุจะแปรผันตามกิจกรรมเนื่องจาก การป้องกันโรคล่วงหน้าและการควบคุมโรค ต้องมีการใช้สารเคมี เพื่อลดการระบาดของโรค จะส่งผลให้มีค้นทุนค่าวัสดุสูงตามไปด้วย เนื่องจากไม่ได้คิดต้นทุนของสิ่งก่อสร้าง จึงทำต้นทุนงบลงทุนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่งหากมีการซื้อครุภัณฑ์ หรือก่อสร้างอาคารใหม่ อาจส่งผลให้เกิดต้นทุนในส่วนนี้สูงขึ้นตาม กระทบต่อต้นทุนต่อหน่วยสูงตามไปด้วย ข้อเสนอแนะ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้วางระบบในการจ่ายค่าตอบแทน และอุดหนุนการจัดบริการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และการจ้างบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก ควรต้องมีการจัดทำมาตรฐานการดำเนินงาน และประเมินทรัพยากรที่ต้องใช้สำหรับการควบคุมกำกับการดำเนินงานตามชุดมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน โดยใช้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานเป็นเป้าหมาย
References
อำพล จินดาวัฒนะและสุรณี พิพัฒน์โรจนากมล. พัฒนาการทางนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย. เอกสารประกอบการจัดประชุมวิชาการ “พลังปัญญา : สู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” 19-20 กุมภาพันธ์ 2547. โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร. 2547.
จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์และจเด็จ ธรรมธัช.การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า.เอกสารประกอบการจัดประชุมวิชาการ 19-20 กุมภาพันธ์ 2547. โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร. 2547.
สำนักโรคติดต่อทั่วไป. สถานการณ์โรคไข้เลือดออก.(ระบบออนไลน์).แหล่งที่มา http://dhf.ddc.moph.go.th/ (10 ธันวาคม 2547).
DS Shepard, JA Suaya, SB Halstead, MB Nathan, DJ Gubler, RT Mahoney, D Wang. Cost-effectiveness of a pediatric dengue vaccine. (on line) : Available from. http://www.pdvi.org/PDFs/articles/Shepard_CEA_Vaccine-article.pdf. (10 Sep 2004).