ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานจังหวัดแพร่
คำสำคัญ:
ความรู้, ทัศนคติ, พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่ออธิบายสภาวะสุขภาพปัจจุบัน และพฤติกรรมโดยรวมของผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการจากศูนย์สุขภาพชุมชนในจังหวัดแพร่ ประชากรในการศึกษาได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยในศูนย์สุขภาพชุมชนในจังหวัดแพร่ ระหว่าง 1 มิถุนายน – 30 กันยายน พ.ศ. 2549 จำนวนทั้งสิ้น 8,737 คน กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการสุ่มอย่างง่ายจากศูนย์สุขภาพชุมชนในจังหวัดแพร่ 48 แห่ง แห่งละ 10 คน จำนวน 480 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เป็นแบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเนื้อหาของแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย ข้อคำถาม ด้านคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง สภาวะสุขภาพในปัจจุบัน ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ทัศนคติต่อโรคเบาหวาน และพฤติกรรมการปฏิบัติของผู้ป่วยเบาหวานนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และวิเคราะห์ด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการจากศูนย์สุขภาพชุมชนจังหวัดแพร่ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 55 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ค้นพบใหม่ และเป็นเบาหวานอยู่ในระยะเวลา 1-5 ปี สภาวะสุขภาพ โดยรวม มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ แต่ยังมีอีก 1 ใน 3 ที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์ และภาวะแทรกซ้อนได้ สำหรับความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานในทุกๆ ด้านรวมกันอยู่ในระดับดี โดยมีคะแนนความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่ในระดับดี ความรู้เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอยู่ระดับดี แต่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนทัศนคติต่อโรคเบาหวานนั้น พบว่า ทัศนคติต่อโรคเบาหวานอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติต่ออาการแทรกซ้อนของโรค และทัศนคติต่อการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นเบาหวาน ยกเว้น ทัศนคติต่อการเป็นโรคเบาหวานที่อยู่ในระดับปานกลาง ภาพรวมพฤติกรรมการดูแลตนเอง ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับปานกลาง โดยเมื่อพิจารณาแยกส่วนพบว่าพฤติกรรมการรักษาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางแต่ค่อนข้างต่ำในเรื่องการรับประทานยาตามจำนวนที่แพทย์สั่ง พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่ค่อนข้างต่ำในเรื่องการออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสม พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง แต่ค่อนข้างต่ำในเรื่องการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พฤติกรรมการดูแลตนเอง เมื่อเป็นเบาหวานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางแต่ค่อนข้างต่ำในเรื่องการตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะอย่างถูกต้อง ทั้งวิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และวิธีการตรวจปัสสาวะด้วยตนเอง
References
ปิยะนุช รักพาณิชย์. โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด กับการปฏิบัติตัว. จัดพิมพ์โดย ส่วนพฤติกรรมและสังคม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.2542
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่. รายงานประจำปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ปีงบประมาณ 2548. เอกสารเย็บเล่ม.
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขเข้าถึงโดย.http://203.157.204.12/phbb/rank morbidity. Php.2548.