การศึกษาผลการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2547 – 2549
คำสำคัญ:
การป้องกันและควบคุมโรค, ไข้เลือดออกบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ ความก้าวหน้า และปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรง ต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก และเพื่อนำผลการศึกษามาวางแผนพัฒนาการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูล โดยค่าสถิติที่ใช้คือ จำนวน ร้อยละ และค่าเฉลี่ย
ผลการศึกษาพบว่า โรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในปีงบประมาณ 2547 ซึ่งพบอัตราป่วยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยเฉพาะตำบลปางหมู ตำบลจองคำ และตำบลผาบ่องอัตราป่วยเท่ากับ 450.03, 312.96, 77.59 ต่อแสนประชากร ในปีงบประมาณ 2548 พบอัตราป่วยสูงกว่าเกณฑ์ 5ตำบล คือ ตำบลผาบ่อง ตำบลจองคำ ตำบลห้วยผา ตำบลปางหมูและ ตำบลห้วยโป่ง อัตราป่วยเท่ากับ 508.66,170.13, 111.36, 109.41, 60.20 ต่อแสนประชากร และในปี ปีงบประมาณ 2549 พบอัตราป่วยตํ่ากว่าเกณฑ์ คือ ตำบลจองคำ และตำบลปางหมูอัตราป่วยเท่ากับ 48.97 และ 26.15 ต่อแสนประชากร ลักษณะพื้นที่ ที่พบอัตราป่วย สูง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เขตเทศบาล หรือเขตเมือง และพื้นที่กึ่งเมือง ช่วงระยะเวลาที่เกิดโรคสูง อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม สำหรับกลุ่มอายุที่เกิดโรคสูงอันดับแรกคือกลุ่มอายุ 25 -44 ปีและกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 45 – 59 ปี, อายุ 10 -14 ปีและอายุ 5 – 9 ปี ประเมินผลการดำเนินงานการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดย อสม. ทั้ง 3 ปีพบว่า ช่วงระยะเวลาที่ อสม. ดำเนินการสำรวจลูกน้ำยุงลายครอบคลุมพื้นที่มาก ช่วง พ.ค. – ก.ค. ครอบคลุม ร้อยละ 60 – 80 และ ช่วงระยะเวลาที่ อสม. ดำเนินการสำรวจลูกน้ำยุงลายครอบคลุมพื้นที่น้อย ช่วง ก.ย. – ธ.ค. ครอบคลุมน้อยกว่า ร้อยละ 50 สำหรับดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้าน (ค่า HI) จะพบสูง ในช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. ของทุกปีและพบว่าโรงเรียน วัด ศูนย์พัฒนาเด็ก และสถานีอนามัย มีค่าดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลาย(ค่า CI) พบสูงในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน การสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยเจ้าของบ้าน พบว่าผลการตอบรับจากชุมชนทั้ง 3 ปีทั้งอำเภอ ส่งบัตรกลับครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายสูงสุด ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2547 ร้อยละ 76.81 ของหมู่บ้านเป้าหมาย และต่ำสุด ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2549 ร้อยละ 62.32 และการส่งบัตรกลับครอบคลุมหลังคาเรือน สูงสุด ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 2548 ร้อยละ 44.91 ของหลังคาเรือน และต่ำสุดครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2549 ร้อยละ 39.08 ถ้าหากพิจารณาการตอบรับ ระดับตำบลทั้ง 3 ปีพบว่า ความครอบคลุมหลังคาเรือนที่ส่งบัตรกลับ สูงสุดคือ ตำบลหมอกจำแป่ รองลงมา คือ ตำบลห้วยผา ตำบลผาบ่อง ตำบลปางหมูตามลำดับ
การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกยังมีปัญหา เนื่องจากอัตราป่วยของโรคยังสูง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง และพื้นที่กึ่งเมือง จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเชิงรุก และแนวทางในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน การบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นผู้มีบทบาทหลักในการเฝ้าระวังก่อนการเกิดโรค การควบคุมโรคได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เท่าของระยะฟักตัว ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแนวทาง ก็จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้
References
กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี่. 2542.
กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี่ฉบับแก้ไขปรับปรุง ครั้งที่ 1. 2545.
กรมควบคุมโรค.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ กลุ่มงานระบาดวิทยา เอกสารประกอบการอบรมจัดตั้งทีม SRRT ระดับจังหวัดและอำเภอ.2548.
กิตติ จันทร์แสง. รูปแบบสำหรับการพยากรณ์ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วารสารโรคติดต่อ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. 2540: 71–78.
สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์.กระทรวงสาธารณสุข.แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก ในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ.
สังคม ศุภรัตนกุล. การพัฒนารูปแบบการควบคุมและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก แบบบูรณาการเปรียบเทียบชุมชนที่ปลอดการระบาดกับชุมชนที่มีการระบาดซ้ำซาก จังหวัดหนองบัวลำภูปี 2549.วารสารสำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 7. 2549:47–62.
สังคม ศุภรัตนกุล. ความสัมพันธ์ของ HI กับจำนวนของผู้ป่วยไข้เลือดออกตามรายงานของจังหวัดหนองบัวลำภูปี 2548.วารสารสำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 7. 2549: 130–137.