การประเมินผลโครงการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อจังหวัดแพร่ปี 2549
คำสำคัญ:
โรคไม่ติดต่อ, การวิจัยประเมินผล, แบบจำลอง CIPP Modelบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยประเมินผล โดยประเมินตามแบบจำลอง CIPP (CIPP Model) ได้แก่ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ศึกษาในบุคลากรผู้ปฏิบัติงานโรคไม่ติดต่อจังหวัดแพร่ระดับอำเภอและระดับตำบล จำนวน 130 คน เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่าง 1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2549 โดยใช้แบบประเมินระหว่างการพัฒนา แบบสอบถาม และการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติค่าร้อยละผลการศึกษาพบว่า ด้านบริบทมีความเหมาะสม สอดคล้องและเป็นไปได้ด้านปัจจัยนำเข้ามีความพอเพียงเหมาะสม ด้านกระบวนการดำเนินงานมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินงาน และบรรลุวัตถุประสงค์บุคลากรผู้รับการพัฒนาสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ซึ่งส่งผลต่อด้านผลลัพธ์โครงการ ผลตรงโครงการ: ร้อยละ100 ของหน่วยงานที่ดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ มีการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร้อยละ 100 ของเครือข่ายบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ ได้รับการพัฒนาความรู้ทักษะ ที่จำเป็นในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ, ร้อยละ 93.75 ของเครือข่ายบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับการพัฒนาไปใช้ในการดำเนินงานได้ถูกต้อง และร้อยละ 100 ของผู้รับผิดชอบงานโรคไม่ติดต่อ มีการสรุปผลการดำเนินงาน และนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินงาน ผลกระทบต่อสุขภาพของปัจเจกบุคคล: ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเขตรับผิดชอบจังหวัดแพร่ได้รับบริการคัดกรอง/วินิจฉัย/นำเข้าสู่ระบบสุขภาพ บรรลุเกณฑ์ชี้วัดกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่า ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตามมาตรฐาน ร้อยละ 79.00 (เกณฑ์ร้อยละ 60) และได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตตามมาตรฐานร้อยละ 80.24 (เกณฑ์ร้อยละ 60) สตรีอายุ 35 ปีขึ้นไปได้รับความรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ร้อยละ 89.10 (เกณฑ์ร้อยละ 80) สตรีอายุ 30, 35, 40, 45, 50, 55 และ 60 ปีได้รับการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น ร้อยละ 56.35 (เกณฑ์ร้อยละ 50)
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าโครงการพัฒนางานโรคไม่ติดต่อจังหวัดแพร่ปีงบประมาณ 2549 ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาและดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณต่อไปได้
References
ถวัลย์รัฐ วรเทพพุฒิพงษ์. การประเมินผลนโยบาย:ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความเป็นธรรมของนโยบาย. กรุงเทพฯ: คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์; 2539.
มนัส พิรณฤทธิ์.การบริหารโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: กรณีศึกษาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดน่าน.ภาคนิพนธ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์; 2541.