การใช้โปรแกรม HIVQUAL-T เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2546-2548

ผู้แต่ง

  • ธัญญ์นรี ปิยกุล

คำสำคัญ:

โปรแกรม HIVQUAL-T, การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

บทคัดย่อ

            การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรม HIVQUAL-T ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือ เชียงใหม่เชียงราย และพะเยา ในปี พ.ศ.2546-2548 โดยการรวบรวมข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยที่มารับบริการ ปี พ.ศ.2546-2548 ในโรงพยาบาลที่ร่วมดำเนินงานจำนวนทั้งหมด 37 แห่ง โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลดังกล่าว อย่างน้อย 2 ครั้งในปีที่ประเมิน จำนวนโรงพยาบาลละ 30-90 ราย ตามปริมาณผู้มารับบริการในแต่ละปี โดยใช้โปรแกรม HIVQUAL-T ซึ่งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่ได้รับการพัฒนาโดยNew York State AIDS Institute มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการวัดคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ตามตัวชี้วัด หลัก 6 ด้าน คือ การติดตามผลการตรวจ CD4 และหรือ Viral Load การรักษาด้วยยาป้องกันโรคติดเชื้อ ฉวยโอกาส การรักษาด้วยยาต้านไวรัส การตรวจคัดกรองและรักษาวัณโรค การตรวจคัดกรองซิฟิลิส และการดูแลผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี(การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก)ผลการศึกษาพบว่าการใช้โปรแกรม HIVQUAL-T วัดคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ตามตัวชี้วัดหลัก 6 ด้าน ในการให้บริการผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่ร่วมดำเนินโครงการ ปี พ.ศ. 2546 – 2548 นั้น มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นตามลำดับในแต่ละปีทุกตัวชี้วัด ซึ่งเป็นผลจากที่ได้วัดคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในปี 2546 เป็นต้นมา แต่ละหน่วยงานสามารถนำผลที่ได้ไปพัฒนากิจกรรมในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ได้ครอบคลุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นไปอย่างต่อเนื่องโปรแกรม HIVQUAL-T ใช้ง่าย รวดเร็ว ใช้ทรัพยากรน้อย และโรงพยาบาลสามารถวัดได้ด้วยตนเอง ทำให้ทราบถึงจุดอ่อนด้านการให้บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในหน่วยงาน เพื่อค้นหาสาเหตุและดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาตามกระบวนการพัฒนาคุณภาพ และส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพการดูแลสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่ต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์น่าจะได้นำโปรแกรมHIVQUAL-T ไปใช้เพื่อช่วยในการวัดคุณภาพระบบบริการในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพบริการที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และสามารถเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆที่ให้บริการดูแลรักษาได้ นอกจากจะทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ได้รับบริการที่ดีครอบคลุม ส่งผลให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาอย่างคุ้มค่า โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันสร้างระบบการพัฒนาคุณภาพการดูแลที่ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป

References

กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์เด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทย ปีพ.ศ. 2547.

กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางปฏิบัติงานโครงการการเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสเอดส์ระดับชาติสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์, กันยายน 2547.

กลุ่มโรคเอดส์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่, รายงานผลการ ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในภาพรวม 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย, 2546.

จรัล ตฤนวุฒิพงษ์ (2546) ได้ศึกษาเรื่อง นโยบายรูปแบบ และผลการดำเนินงานของโครงการการเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสระดับชาติสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (NAPHA). การสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 9 : ผลงานวิชาการ/บทคัดย่อ.พิมพ์ครั้งที่ 1.โรงพิมพ์การศาสนา, 2546;160-163.

ชวินทร์ ศิรินาถ (2546) ได้ทำการศึกษาเรื่องโครงการให้ยาป้องกันวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ของศูนย์บริการสาธารณสุข สำ นักอนามัยกรุงเทพมหานคร. การสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 9 : ผลงานวิชาการ/บทคัดย่อ. พิมพ์ครั้งที่ 1.โรงพิมพ์การศาสนา, 2546:73-74.

ภูชิชย์ มีประเสริฐสกุล (2547). ความผิดปกติของการตรวจมะเร็งปากมดลกในสตรีที่ติดเชื้อเอดส์ในสถานบำราศนราดูร.วารสารควบคุมโรค; 30(4):337-343.

ศิริพร กัญชนะ (2546) ได้ศึกษาเรื่อง นโยบายและการดำเนินการดูแลหญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 9 : ผลงานวิชาการ/บทคัดย่อ. พิมพ์ครั้งที่ 1.โรงพิมพ์การศาสนา, 2546:164-167.

ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข,(2548). คู่มือการใช้งาน HIVQUAL-T โปรแกรมวัดผลการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลด้านการแพทย์สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท เรดิเอชั่น จำกัด.

AIDS Education Training Centers (AETC) National Resource Center, New York State Department of Health AIDS Institute, Measuring Clinical Performance: A Guide for HIV Health Care Providers, 2002.

New York State Department of Health AIDS Institute, The HIV Quality of Care Program, 2002.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-08

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป