การสอบสวนและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ปี 2561

ผู้แต่ง

  • ศุภฤกษ์ ทิฉลาด ส.บ. (สาธารณสุขศาสตร์) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสบปราบ
  • อำนวย ทิพศรีราช ส.ม. (สาธารณสุขศาสตร์) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่
  • อภิสรา ตามวงค์ ส.บ. (สาธารณสุขศาสตร์) โรงพยาบาลวังเหนือ จังหวัดลำปาง

คำสำคัญ:

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา, การระบาด

บทคัดย่อ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วอำเภอวังเหนือ ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล     วังเหนือ พบผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อาศัยอยู่ หมู่ 1 ตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง จึงได้ดำเนินการสอบสวน เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ยืนยันการระบาด ลักษณะทางระบาดวิทยาของโรค และเพื่อควบคุมป้องกันการระบาดในพื้นที่  เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย ทบทวนเวชระเบียน ค้นหาผู้ป่วยและหญิงตั้งครรภ์เพิ่มเติมโดยใช้นิยามของสำนักระบาดวิทยา ศึกษาสภาพแวดล้อมในชุมชน และสำรวจลูกน้ำยุงลาย เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ ผู้สัมผัสในครอบครัว และหญิงตั้งครรภ์ ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคทั้งสิ้น 84 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 23 ราย  เพศชาย: เพศหญิง  1: 1.3 อายุเฉลี่ย 30.9 ปี (S.D.=20.38) ส่วนใหญ่แสดงอาการผื่นมากที่สุด ร้อยละ 92.9 รองลงมามีอาการไข้ ร้อยละ 54.8 และปวดข้อ ร้อยละ 39.3 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า มีสารพันธุกรรมไวรัสซิกาในปัสสาวะ จำนวน 17 ราย และสารพันธุกรรมไวรัสซิกาทั้งในปัสสาวะและในพลาสมา จำนวน 5 ราย มีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย  อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พบสารพันธุกรรมไวรัสซิกาในพลาสมา ซึ่งอาการของโรคคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสไข้ออกผื่นทั่วไป ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้รวดเร็ว จึงทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ มาตรการการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค โดยการให้ความรู้ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กำหนดพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีแดง ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย และสร้างความตระหนักในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายไม่ให้เอื้อต่อการเกิดโรค หลังดำเนินการควบคุมโรคภายใน 28 วันแล้ว ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่

References

เกษร แถวโนนงิ้ว. (2560). การประเมินความพร้อมระบบตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในระดับจังหวัดและอำเภอ เขตสุขภาพที่ 7: กรณีศึกษาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ปี 2559. วารสารควบคุมโรค, 43(4), 448-459.

กรมควบคุมโรค. (2559). คู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2559. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกใน พระบรมราชูปถัมภ์.

ธานี โชติกคาม, จิณตระการ ควรคิด, ปิติ ศรีสละ, อาทิตย์ บุญผล และนภามาศ ใจผ่อง. (2562). การสอบสวนการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มิถุนายน 2561. วารสารโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์, 13(2), 50-62.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2559). โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท เท็กซ์แอนด์เจอร์นัลพับลิเคชั่น จำกัด.

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2561). แนวทางการรายงานโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

หทัยกาญจน์ บุณยะรัตเวช นันทวัน คํานึงกิจ นิภา ปานเสน่ห์ และศิริมา ธนานันท์. (2561). การสอบสวน การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เดือนกันยายน 2559. [online] [สืบค้นเมื่อ 5 ต.ค. 2561]; แหล่งข้อมูล: URL: https://wesr.boe.moph.go.th/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30