ผลของการเตรียมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อความกลัวของผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน
Abstract
การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นสถานการณ์ที่เด็กวัยก่อนเรียนรู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เด็กที่กลัวมักขัดขืนไม่ร่วมมือในการรักษาพยาบาล ความกลัวส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ หรืออาจมีพัฒนาการไม่สมวัยดังนั้นการลดความกลัวของเด็กเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเตรียมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อความกลัวของผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กวัยก่อนเรียนอายุ 3-6 ปี จำนวน 32 คน ที่เข้ารับการรักษาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและโรงพยาบาลสมุทรสาคร แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยการสุ่มอย่างง่ายและจับคู่โดยมีเด็กในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 16 คน เด็กในกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนเด็กในกลุ่มทดลองได้รับการเตรียมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้การเล่นบทบาทสมมติร่วมกับการมีส่วนร่วมของบิดามารดาเพิ่มเติมจากการพยาบาลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมความกลัวที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test dependent) ผลการวิจัย พบว่า ผู้ป่วยเด็กกลุ่มที่ได้รับการเตรียมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีความกลัวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย พยาบาลควรนำการเตรียมการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยใช้การเล่นบทบาทสมมติร่วมกับการมีส่วนร่วมของบิดามารดาไปใช้ในการเตรียมเด็กก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดความกลัวและผลเสียอื่นๆ อันจะเกิดกับเด็ก นอกจากนี้ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลลัพธ์อื่นๆ ของเด็กและผลลัพธ์ของบิดามารดาด้วย
คำสำคัญ: การเตรียมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ความกลัว เด็กวัยก่อนเรียน