คุณภาพการนอนหลับและปัจจัยรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอายุรกรรม
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพการนอนหลับ ปัจจัยรบกวนการนอนหลับ และปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอายุรกรรม กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอายุรกรรมสามัญ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 120 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์คุณภาพการนอนหลับ และแบบสัมภาษณ์ปัจจัยรบกวนการนอนหลับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและสถิติวิเคราะห์การถดถอยพหุคุณ
ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 49.2 มีคุณภาพการนอนหลับไม่ดี ลักษณะปัญหาการนอนหลับที่พบ ได้แก่ นอนหลับยาก ตื่นบ่าย และตื่นนอนด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น ปัจจัยด้านร่างกายที่ผู้ป่วยรับรู้ว่ารบกวนการนอนหลับ ได้แก่ ความเจ็บปวดต่างๆ การหายใจลำบาก และการถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัจจัยด้านจิตใจ ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับครอบครัว ความเจ็บป่วยของตนเอง และความกลัวเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ เสียงและแสงไฟ และ กิจกรรมการพยาบาลที่รบกวนการนอนได้แก่ การวัดสัญญาณชีพและการเจาะเลือด จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่ามีเพียงปัจจัยด้านร่างกาย และด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีความสัมพันธ์กันในเชิงลบ (β = -.313 และ -.180 ตาม ลำดับ) ตัวแปรทั้งสองสามารถทำนายคุณภาพการนอนหลับได้ร้อยละ 14.8
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความไม่สุขสบายด้านร่างกาย และการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมในหอผู้ป่วยทำให้คุณภาพการนอนหลับไม่ดี ซึ่งปัจจัยทั้งสองดังกล่าวนี้ พยาบาลมีหน้าที่สำคัญในการให้การดูแลเพื่อลดความไม่สุขสบายต่างๆ แก่ผู้ป่วยโดยเฉพาะก่อนนอนและการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในหอผู้ป่วยให้เอื้อต่อการนอนหลับที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วย
คำสำคัญ ; คุณภาพการนอนหลับ ปัจจัยรบกวนการนอนหลับ ผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลผ