สภาพการทำงานและปัญหาสุขภาพของผู้ทำงานไม้แกะสลัก

Authors

  • สุสัณหา ยิ้มแย้ม
  • เบ็ญจา จิรภัทรพิมล

Abstract

การทำงานไม้แกะสลักเป็นหัตถอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่จัดในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นงานรับเหมามาทำที่บ้าน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ทำงานและสมาชิกในครอบครัวหากไม่มีการควบคุมที่ดีพอ การวิจัยเชิงพรรณนานี้เพื่อศึกษาสภาพการทำงาน ภาวะเสี่ยง และปัญหาสุขภาพของผู้ทำงานไม้แกะสลัก ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณร่วมกับวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีวิธีการรวบรวมข้อมูลหลายวิธีได้แก่ การสนทนาแบบไม่มีโครงสร้างกับผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่สวัสดิการแรงงานจังหวัดเชียงใหม่เจ้าหน้าที่เครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้านภาคเหนือ การสังเกตพฤติกรรมในการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การสอบถามกับผู้ทำงานชายและหญิงที่ทำงานไม้แกะสลักซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 202 คน การสัมภาษณ์เจาะลึกและการสนทนากลุ่มกับผู้ทำงานแกะสลักไม้ ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 69 คน และการจัดเวทีประชุมร่วมกับผู้ทำงานแกะสลักไม้ ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 81 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ทำงานไม้แกะสลักส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านตนเองและขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของงาน โดยผู้ทำงานชายส่วนใหญ่แกะสลักหรือทำหุ่นไม้ ขณะที่ผู้ทำงานหญิงส่วนใหญ่ตกแต่งและการประกอบชิ้นงาน โดยทั่วไปผู้ทำงานส่วนใหญ่รับรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงและปัญหาสุขภาพจากการทำงาน โดยเฉพาะการอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง การสัมผัสฝุ่นละอองและสารเคมี รวมทั้งอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรกล การเจ็บป่วยที่พบมากที่สุดคือ อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว รองลงมา ได้แก่ หอบหืดและโรคทางเดินหายใจอื่น โรคกระเพราะอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับตาและสายตา ผิวหนัง และอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรกล

Downloads

Published

2012-09-05

How to Cite

1.
ยิ้มแย้ม ส, จิรภัทรพิมล เ. สภาพการทำงานและปัญหาสุขภาพของผู้ทำงานไม้แกะสลัก. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Sep. 5 [cited 2024 Mar. 29];22(4):79. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2464