ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการกับการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อหาความสัมพันธ์เชิงทำนาย(predictive correlation design) เพื่อศึกษากลุ่มอาการ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการกับการปฏิบัติการทำหน้าที่ และการทำนายการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มอาการในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 130 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินอาการหายใจลำบากอ่อนเพลียและนอนไม่หลับในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3) แบบประเมินอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และ 4) แบบประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันจำแนกกลุ่มโดยใช้เทคนิค hierarchical cluster analysis และการวิเคราะห์การถดถอยพหุ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มอาการในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสามารถจำแนกได้ สองกลุ่มอาการคือ กลุ่มอาการที่ 1 กลุ่มอาการทางร่างกาย ประกอบด้วย อาการหายใจลำบากอ่อนเพลีย และนอนไม่หลับ กลุ่มอาการที่ 2 กลุ่มอาการทางจิตใจ ประกอบด้วย อาการวิตกกังวล และซึมเศร้า ทั้งสองกลุ่มอาการมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มอาการทางร่างกาย และกลุ่มอาการทางจิตใจ สามารถร่วมกันทำนายการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ร้อยละ75 โดยกลุ่มอาการทางกาย มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด
ผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับทฤษฎีอาการไม่พึงประสงค์ ของ Lenz et al. (1997)ที่ว่า การรับรู้ของบุคคลต่ออาการที่เกิดขึ้นมักเกิดมากกว่า 1 อาการและอาการเหล่านี้มักมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำมาใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มอาการและการจัดการกลุ่มอาการต่อไป
คำสำคัญ: อาการ กลุ่มอาการ การปฏิบัติหน้าที่ ผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง