Journal Information
เกี่ยวกับวารสาร
สารจากบรรณาธิการ
เรียน ผู้อ่านทุกท่าน
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของวารสารสภาการพยาบาล เรามุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่บทความที่มีคุณภาพทั้งความรู้ใหม่และความก้าวหน้าทางการพยาบาล การพัฒนาวิชาชีพการพยาบาล ตลอดจนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและนโยบายสุขภาพโดยต้นฉบับบทความจะได้รับการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง 3 ท่านซึ่งไม่มีการเปิดเผยชื่อต่อกันของทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียนบทความ ทั้งนี้เพื่อรับประกันคุณภาพมาตรฐานสูงสุดของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารสภาการพยาบาล
วารสารสภาการพยาบาลรับบทความวิชาการและบทความวิจัยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ครอบคลุมทั้งด้านความก้าวหน้าของการศึกษาทางการพยาบาล การบริหารการพยาบาล แนวปฏิบัติในการพยาบาลและการผดุงครรภ์ นวัตกรรมทางการพยาบาล การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และการใช้แนวปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อยกระดับคุณภาพการพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วารสารสภาการพยาบาลจะเป็นแหล่งประโยชน์สำหรับนักวิจัย นักวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งนักศึกษาและผู้สนใจทุกท่าน ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านได้เข้าสู่เว็บไซต์ของวารสารสภาการพยาบาล
นพวรรณ เปียซื่อ PhD, RN, อพย. (การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน)
บรรณาธิการ
วารสารสภาการพยาบาล
Journal of Thailand Nursing and Midwifery Council
Abbreviation: J Thai Nurse Midwife Counc
ISSN 2985-0894 (Online)
วารสารสภาการพยาบาล
เป็นวารสารวิชาการฉบับภาษาไทยของสภาการพยาบาล ซึ่งมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ ทุก 3 เดือน (Quarterly) มีการประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) กระบวนการประเมินทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่ทราบว่าผู้แต่งเป็นใครและผู้แต่งจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประเมินบทความของตน (Double-blind)
วัตถุประสงค์และขอบเขต (Aim and Scope)
วารสารสภาการพยาบาล (Journal of Thailand Nursing and Midwifery Council: JTNMC) เป็นวารสารออนไลน์แบบเปิด (open-access) ที่ผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิแบบปกปิดสองทาง (double-blind peer-reviewed) ซึ่งตีพิมพ์บทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในรูปแบบรายไตรมาส วารสาร JTNMC มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่บทความที่มีความร่วมสมัยและเกี่ยวข้องกับวิชาชีพการพยาบาลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
วารสาร JTNMC เปิดรับบทความวิชาการและบทความวิจัย ที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อวิชาชีพการพยาบาล โดยเฉพาะบทความที่แสดงถึงความเป็นต้นฉบับ ความก้าวหน้า นวัตกรรม และคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ขอบเขตของการตีพิมพ์ครอบคลุมทุกสาขาเฉพาะทางของการพยาบาล และสนับสนุนการนำเสนอในสาขาย่อยที่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ในวิชาชีพ
สาขาย่อย (sub-fields)
- การดูแลผู้ป่วย/ การดูแลสุขภาพ (Patient care/ Health care)
- รูปแบบการดูแล/ แนวปฏิบัติทางคลินิก/ นวัตกรรม (Care model/ Clinical practice guidelines/Innovation)
- การพัฒนาวิชาชีพ (Professional development)
- การศึกษาด้านการพยาบาล (Nursing education)
- การวิจัยด้านการพยาบาลและสุขภาพ (Nursing and health research)
ประเภทบทความที่รับ (Types of manuscript)
วารสาร JTNMC ยินดีรับบทความวิจัยต้นฉบับ (original research articles) และบทความปริทัศน์ (review articles) ดังนี้:
-
บทความวิจัยต้นฉบับที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางอย่างเป็นระบบในการศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่สนใจ การระบุช่องว่างของความรู้ วัตถุประสงค์ของการศึกษา การออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยประเภทของบทความวิจัยต้นฉบับ ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยแบบผสมผสาน และการวิจัยและพัฒนา
-
บทความปริทัศน์ นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมการวิจัยที่มีอยู่ในหัวข้อเฉพาะที่ทบทวน ผลการศึกษาได้จากการประเมิน วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่ทันสมัยของสาขานั้นๆ รวมถึงการชี้นำการปฏิบัติ ประเภทของบทความปริทัศน์ได้แก่ การทบทวนวรรณกรรม การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และกรณีศึกษา
การเตรียมต้นฉบับ (Preparing Manuscripts)
ขณะนี้วารสารสภาการพยาบาลยังเปิดรับการลงตีพิมพ์แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการปรับปรุงในรายละเอียดเพื่อการเตรียมเข้าสู่ฐานข้อมูลในระดับนานาชาติซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับผลงานที่ลงตีพิมพ์ในวารสารในการได้รับการเผยแพร่มากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสนำผลงานที่ลงตีพิมพ์ไปใช้ในระดับนานาชาติ ทางวารสารอาจดำเนินการติดต่อผู้แต่งท่านเพิ่มเติมในรายละเอียดที่ปรากฏในระบบปัจจุบัน จนกว่าการปรับปรุงระบบจะเสร็จสิ้น
- ขั้นตอนการเขียนต้นฉบับ
- ขั้นตอนการลงทะเบียนผู้เขียน
- ขั้นตอนการส่งต้นฉบับ
- Submission Preparation Checklists
เพื่อให้สาระของบทความในวารสารสามารถสื่อสารกับผู้อ่านในระดับนานาชาติได้ บทความที่ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ในวารสารจะมีบทคัดย่อภาษาอังกฤษที่มีสาระครอบคลุมกระบวนการวิจัยเพิ่มขึ้น ในส่วนของเนื้อหาในบทความ ส่วนที่เป็นภาพและตาราง ผู้แต่งจะดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ทางวารสารขอแนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและแนวปฏิบัติในการส่งต้นฉบับอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งโดยตรวจสอบและแก้ไขเนื้อหา ไวยากรณ์ และเครื่องหมายวรรคในต้นฉบับก่อนที่จะส่งเข้าระบบ ความบกพร่องในการเตรียมต้นฉบับให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กำหนดอาจนำไปสู่การปฏิเสธการส่งบทความตั้งแต่เริ่มแรก
Peer Review Process
เพื่อความเป็นธรรมและความโปร่งใส ต้นฉบับบทความวิชาการหรือบทความวิจัยจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพและจริยธรรมของสาระในบทความต้นฉบับโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น จำนวน 3 ท่าน กระบวนการประเมินจะไม่เปิดเผยให้เจ้าของบทความทราบว่าใครคือผู้ประเมินและผู้ประเมินจะไม่ทราบว่าบทความนั้นเป็นของผู้ใด (Double blind)
การพิจารณาตัดสินการรับตีพิมพ์ หรือ ปฏิเสธการรับตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านที่ลงความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพและเป็นต้นฉบับแท้จริง มิได้ผ่านการคัดลอกผลงาน ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นกับบรรณาธิการ โดยบรรณาธิการจะส่งผลการพิจารณาไปยังผู้แต่งซึ่งอาจเป็นการตอบรับหรือการปฏิเสธการตีพิมพ์ หากเป็นการตอบรับการตีพิมพ์ ส่วนมากทางวารสารจะมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับแก้ไขซึ่งมีตั้งแต่การปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อยจนถึงการปรับแก้ไขระดับมาก ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บทความหรืองานวิจัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณชน
ขั้นตอนการประเมินต้นฉบับโดยผู้ทรงคุณวุฒิจนถึงขั้นตอนการแก้ไข พิสูจน์อักษร จนถึงการตอบรับเพื่อตีพิมพ์นั้นใช้ระยะเวลา ขึ้นกับคุณภาพของบทความหรืองานวิจัย ระยะเวลาประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ และระยะเวลาในการแก้ไขต้นฉบับของผู้แต่ง โดยประมาณใช้เวลา 2-3เดือน การปรับแก้ไขขอให้ผู้แต่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากบรรณาธิการร่วมกับการชี้แจงการปรับปรุงแก้ไขของผู้แต่ง และส่งมาพร้อมกับบทความฉบับแก้ไข ความล่าช้าในการแก้ไขบทความต้นฉบับ ทางวารสารมีความจำเป็นต้องพิจารณาตามลำดับความพร้อมของบทความในการเผยแพร่
เมื่อบทความเมื่อส่งเข้ามาในระบบ บรรณาธิการจะทำการประเมินเบื้องต้นในส่วนของสาระของบทความที่ต้องอยู่ในขอบข่ายที่วารสารสภาการพยาบาลกำหนด การคัดลอกผลงานจากแหล่งอื่น รูปแบบการเตรียมต้นฉบับที่ถูกต้องตามเกณฑ์ที่วารสารกำหนด รวมถึงการใช้รูปแบบการอ้างอิงที่ถูกต้อง และที่สำคัญคุณภาพของบทความในเบื้องต้นในระดับที่ควรได้รับการตอบรับในเบื้องต้น
ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ระบุ ทางวารสารจะดำเนินการแจ้งกลับไปยังผู้แต่งเพื่อให้ดำเนินการปรับแก้ให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่พบการแก้ไข ทางวารสารจำเป็นต้องแจ้งกลับไปยังผู้แต่งในการของดการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และสิ้นสุดการรับพิจารณาบทความ พร้อมอธิบายเหตุผล
ในกรณีที่บทความสอดคล้องตามเกณฑ์ที่กำหนด ทางวารสารจะส่งต่อไปยังผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนั้นๆ จำนวน 3 ท่านเพื่อประเมินคุณภาพของบทความ และแจ้งแก่ผู้แต่งว่ากำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความโดยมีแบบฟอร์มการประเมินตามประเภทของบทความ ได้แก่ บทความวิชาการ งานวิจัยเชิงคุณภาพ วิจัยเชิงปริมาณ การพัฒนางานจากหลักฐานเชิงประจักษ์ การทบทวนวรรณกรรมหรือการบูรณาการงานวิจัย
การประเมินคุณภาพของบทความโดยผผู้ทรงคุณวุฒิ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เห็นสมควรเผยแพร่โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม เห็นสมควรเผยแพร่แต่ต้องแก้ไขตามคำแนะนำ และเห็นสมควรปฏิเสธการรับตีพิมพ์
เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิส่งความเห็นกลับคืนมาแล้ว บรรณาธิการจะพิจารณาผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านโดยละเอียด จากนั้นจึงสรุปผลการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งกลับไปยังเจ้าของบทความ
บรรณาธิการจะตรวจสอบว่าผู้เขียนได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ให้ข้อเสนอแนะไปหรือไม่ หากไม่พบการแก้ไขโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บรรณาธิการมีความจำเป็นจะต้องแจ้งให้ผู้เขียนทราบว่าบทความนี้ "ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์"
จำนวนครั้งของการแก้ไขจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับความสมบูรณ์ของบทความ โดยทั่วไปแล้ว หากบทความมีคุณภาพ จำนวนครั้งของการแก้ไขไม่ควรเกิน 3 ครั้ง
หมายเหตุ วารสารสภาการพยาบาลไม่มีนโยบายในการรับตีพิมพ์บทความแบบเร่งด่วน
Publication Frequency
วารสารสภาการพยาบาล กำหนดออกปีละ 4 เล่ม ดังนี้
ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม
ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน
ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน
ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม
Open Access Policy
วารสารสภาการพยาบาลมีนโยบายในการเปิดให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหาสาระของวารสารได้ในทันทีที่วารสารแต่ละฉบับขึ้นระบบออนไลน์ในทุก 3 เดือน สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มผ่านระบบ ThaiJo ได้ที่ https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/index
ค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์บทความ - เหมาจ่าย 5,500 บาท (185 US dollars)
วารสารสภาการพยาบาลเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเปิดโอกาสรับตีพิมพ์ให้กับต้นฉบับที่มีคุณภาพสูงเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณชน ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจำนวน 5,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายขั้นต่ำสำหรับกระบวนการต่างๆ ของการจัดการคุณภาพ เช่น การตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และกระบวนการบริหาร รวมถึงการจัดทำอาร์ตเวิร์กสำหรับการเผยแพร่ออนไลน์ ขั้นตอนการชำระเงินมีดังนี้:
1. เมื่อส่งบทความแล้ว กระบวนการคัดกรองครั้งแรกของวารสารจะดำเนินการโดยทีมบรรณาธิการ หากเอกสารที่ส่งมาไม่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดกรอง บทความจะถูกปฏิเสธผ่านทางระบบ ในขั้นตอนคัดกรองนี้ ผู้ส่งบทความยังไม่ต้องชำระเงินและสามารถขอคำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับการปฏิเสธการพิจารณาการยอมรับการตีพิมพ์ได้
2. ผู้แต่งจะดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมเมื่อบทความผ่านการคัดกรองครั้งแรกแล้ว ผ่านทาง ระบบการเงินของสภาการพยาบาล https://services2.tnmc.or.th/request/form/A2 โดยวารสารสภาการพยาบาลจะส่งใบเสร็จรับเงินทาง Email ของผู้แต่งภายใน 7 วันหลังชำระเงินเสร็จเรียบร้อบ
3. โปรดทราบว่าบทความที่ส่งเข้ามาสามารถถูกปฏิเสธได้ในภายหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำในการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของทีมบรรณาธิการวารสาร ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการชำระเงินไม่สามารถขอคืนได้ หากบทความผ่านการพิจารณาแล้วว่าไม่พร้อมที่จะได้รับการตีพิมพ์
หมายเหตุ วารสารสภาการพยาบาลไม่มีนโยบายในการรับตีพิมพ์บทความแบบเร่งด่วน
Sponsors
สภาการพยาบาล ในกระทรวงสาธารณสุข
88/20 ถนนติวานนท์ อาคารนครินทรศรี ตำบล. ตลาดขวัญ อำเภอ เมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-5967536 โทรสาร 02-5987121
Website : https://www.tnmc.or.th
Sources of Support
สภาการพยาบาล
Journal History
วารสารสภาการพยาบาลเริ่มต้นดำเนินการโดยใช้ชื่อ "สารสภาการพยาบาล (The Thai Nursing Council Newsletter)” ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กันยายน พ.ศ 2529)- ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2537) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเฉพาะภาษาอังกฤษเป็น The Thai Nursing Council Bulletin ส่วนภาษาไทยยังใช้ชื่อเดิม ในปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2538) - ปีที่ 13 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2541) โดยมีรองศาสตราจารย์เพ็ญศรี ระเบียบ เป็นบรรณาธิการท่านแรก และวารสารได้เปลี่ยนชื่อเป็นวารสารสภาการพยาบาล (Thai Journal of Nursing Council) “ ในปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2542) เป็นต้นมา
ต่อมาในปีที่ 21 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2549) รองศาสตราจารย์ สายพิณ เกษมกิจวัฒนา ได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสาร และในปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2562) วารสารสภาการพยาบาลได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Journal of Thailand Nursing and Midwifery Council และใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน
วารสารสภาการพยาบาล ได้พัฒนาคุณภาพของวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของวารสารกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้ผ่านการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการและอยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre : TCI) กลุ่มที่ 1 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
ปัจจุบันวารสารสภาการพยาบาลอยู่ในระบบฐานข้อมูลของดัชนีวารสารไทยและ ASEAN Citation Index (ACI) ในการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการ จากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre : TCI) รอบที่ 4 พ.ศ. 2563 - 2567 วารสารสภาการพยาบาลยังคงผ่านการรับรองคุณภาพและมีสถานะในกลุ่มที่ 1 ได้รับการรับรองจนถึง 31 ธันวาคม 2567
ในปีที่ 38 ฉบับที่ 1(มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2566) ศาสตราจารย์ ดร. นพวรรณ เปียซื่อ ปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการวารสาร
วารสารสภาการพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ฐานดัชนีวารสารในระดับนานาชาติโดยเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ระยะที่ 3 (2566-2569) โดยศูนย์ดัชนีวารสารไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวารสารสภาการพยาบาลฉบับภาษาไทย เพื่อความเป็นวารสารในระดับนานาชาติในอนาคต