คำแนะนำผู้แต่ง

วารสารสภาการพยาบาล

เป็นวารสารวิชาการภาษาไทย ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการทางการ พยาบาลและที่เกี่ยวข้องทุก 3 เดือน ปีละ 4 ฉบับ (มกราคม-มีนาคม/ เมษายน-มิถุนายน/ กรกฎาคม - กันยายน/ ตุลาคม-ธันวาคม)

วัตถุประสงค์

วารสารสภาการพยาบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ทั้งที่เป็นงานวิจัย บทความวิชาการ นวัตกรรมและแนวปฏิบัติทางการพยาบาลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงเป็นแหล่งในการสืบค้นความรู้ทางวิชาการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของสมาชิกร่วมวิชาชีพทั้งที่เป็นนักวิชาการและพยาบาลวิชาชีพ

ขอบเขตการรับบทความ

วารสารสภาการพยาบาลเปิดรับบทความที่มีคุณภาพทั้งที่เป็นบทความ วิชาการ งานวิจัยทางการพยาบาล การทบทวนวรรณกรรม การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาล นวัตกรรม ทางการพยาบาลและที่เกี่ยวข้อง

คำแนะนำในการเตรียมบทความ

ขั้นตอนการพิจารณาบทความ ตั้งแต่การส่งบทความต้นฉบับเข้าสู่ระบบจนถึงการพิจารณาตอบรับการตีพิมพ์ รายละเอียดแสดงดังแผนภูมิและคำอธิบายด้านล่าง

การส่งผลงานเข้ามาเพื่อรับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสภาการพยาบาลมีข้อแนะนำให้ผู้แต่งนำไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมต้นฉบับดังนี้

การเป็นบทความต้นฉบับ

บทความวิชาการนั้นๆ จะต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อนหรือไม่อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณา จากวารสารอื่นหรือส่งไปยังวารสารอื่นซ้อนกัน

ความเป็นผู้นิพนธ์ (Authorship)

ผู้มีรายชื่อในบทความทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลงานวิชาการนั้นๆ และมี ความเห็นพ้องต้องกันในเนื้อหาสาระของบทความก่อนส่งเข้ามาเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่

การลอกเลียนงานวิชาการ

บทความที่ส่งเข้ามานั้น ผู้เขียนต้องแน่ใจว่าได้ตรวจสอบเนื้อหาสาระของบทความแล้วและไม่มีการลักลอกเลียนงานวิขาการ (Plagiarism) โดยมีการอ้างอิงแหล่งที่มาตามหลักการที่ถูกต้องครบถ้วน เรื่องนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นประเด็นจริยธรรมของผู้เขียนบทความ โดยทางศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จะมีระบบในการตรวจสอบการลอกเลียนงานวิชาการทุกบทความที่เข้าในระบบ ThaiJO การป้องกันการลักลอกเลียนงานวิชาการ ผู้เขียนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://stanglibrary.wordpress.com/tag/plagiarism/ บทความวิชาการที่เป็นผลงานของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา จะต้องมีลายเซ็นของอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อรับรองว่าได้อ่านและพิจารณาเนื้อหาสาระของบทความนั้นแล้วก่อนส่งบทความเข้ามารับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ หมายเหตุ: การส่งบทความเข้ามายังระบบออนไลน์ เจ้าของบทความจะต้องพิจารณาและกรอกแบบฟอร์มเพื่อยืนยันตามข้อ 1-4 การส่งบทความเข้ามาในระบบจึงจะมีความสมบูรณ์

องค์ประกอบของบทความแต่ละประเภท

บทความวิชาการ

เป็นบทความที่ผู้เขียนต้องการแสดงเนื้อหาที่เป็นความรู้ใหม่ หรือ update ความรู้ที่มีอยู่เดิมหรือเขียนเชิงวิเคราะห์ในประเด็นที่เป็นที่สนใจของวิชาชีพแต่ยังมีความเห็นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือการนำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพื่อการนำไปใช้หรือต่อยอดการสร้างองค์ความรู้ต่อไป  องค์ประกอบของบทความวิชาการประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทคัดย่อขยาย (Extended abstract) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คำสำคัญ บทนำ เนื้อหาสาระและบทสรุป ต่อท้ายด้วยการอ้างอิงตามลำดับ

การพัฒนาแนวปฏิบัติจากหลักฐานเชิงประจักษ์

เป็นการสังเคราะห์จากกลุ่มงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาล (Evidenced-Based Practice) ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทคัดย่อขยาย (Extended abstract)  และคำสำคัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บทนำ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินการตามแนวคิดของการพัฒนา แนวปฏิบัติที่เลือกใช้ เน้นความเข้มงวดในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้แนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นมีความน่าเชื่อถือ สอดคล้อง กับบริบทและนำไปใช้ได้จริง ต่อด้วยการอภิปรายผลและข้อเสนอแนะในการนำแนวปฏิบัติไปใช้ ข้อจำกัด (ถ้ามี) และเอกสารอ้างอิงตามลำดับ  

บทความวิจัย

ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทคัดย่อขยาย (Extended abstract) และคำสำคัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  (ประกอบด้วยบทนำ วัตถุประสงค์ของการวิจัย การออกแบบการวิจัย ผลการวิจัย ข้อเสนอแนะ และคำสำคัญ) ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย กรอบแนวคิดของการวิจัย (หากมีไดอะแกรม/แผนภาพนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ) วิธีดำเนินการศึกษา (การออกแบบวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การตรวจ สอบคุณภาพของเครื่องมือวิจัย การพิทักษ์สิทธิ์ผู้เข้าร่วมวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล) ผลการวิจัย (ในส่วนของตารางนำเสนอหรือกราฟ/ภาพ นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ) การอภิปรายผลและข้อสรุป ข้อจำกัด ของการวิจัย ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้และเอกสารอ้างอิงตามลำดับ

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review)

ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง บทคัดย่อขยาย (Extended abstract) และคำสำคัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บทนำ วัตถุประสงค์ การสืบค้นและแหล่งข้อมูล การประเมิน คุณภาพงานวิจัย การสกัดข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเสนอผล การอภิปรายผลและข้อสรุป เอกสารอ้างอิง

รูปแบบการเตรียมบทความต้นฉบับ

ภาษาไทยพิมพ์ด้วย Microsoft Word ตัวอักษร TH Sarabun PSK, Font ขนาด 16 point ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ใช้กระดาษพิมพ์ขนาด A4  หากเป็นบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษทั้งฉบับ ให้ใช้ตัวอักษร Time New Romans Font ขนาด 12 point

ในแต่ละหน้าขอให้ระบุเลขที่หน้าไว้ที่หัวกระดาษบนด้านขวา ถ้าจำเป็นต้องใช้ชื่อย่อในเนื้อหา จะต้องพิมพ์ครั้งแรกด้วยชื่อเต็มก่อนแล้วจึงใช้ชื่อย่อได้ภายหลัง การใช้ภาษาอังกฤษในเนื้อหาให้ใช้ตัวเล็กทั้งหมด ยกเว้นชื่อเฉพาะเท่านั้นที่ตัวแรกใช้ตัวใหญ่

ความยาวของบทความอยู่ระหว่าง 10-15 หน้าสำหรับเนื้อหา (ไม่รวมเอกสารอ้างอิง) ชื่อตาราง สาระในตาราง ชื่อภาพ และรายละเอียด ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

การอ้างอิงและเอกสารอ้างอิง

ตามระเบียบของวารสารสภาการพยาบาลใช้ระบบแวนคูเวอร์  (Vancouver style) เอกสารอ้างอิงต้องทันสมัย (update) ตรงกับเนื้อหาในบทความและไม่ควรเกิน 30 เรื่อง รายละเอียดเกี่ยวกับระบบอ้างอิงแวนคูเวอร์สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Link

การพิจารณาบทความ (Submission process)

หากท่านมีความสนใจที่จะส่งบทความมายังวารสารสภาการพยาบาล ทางวารสารขอแนะนำให้ท่านดูรายละเอีดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายของวารสารได้ที่ เกี่ยวกับวารสาร  การส่งบทความ และคำแนะนำสำหรับผู้แต่ง  ในการส่งบทความนี้ ผู้แต่งต้องดำเนินการลงทะเบียนเป็น user และ Log in เข้าสู่ระบบ จะมีขั้นตอนให้ดำเนินการทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน 

การประเมินคุณภาพบทความ (Assessment of Submitted Articles)

เมื่อบทความของท่านเข้าสู่ระบบของวารสาร ในขั้นตอนแรก ทางวารสารจะดำเนินการตรวจสอบว่าการเตรียมต้นฉบับเป็นไปตามรูปแบบที่วารสารกำหนดหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบการลอกเลียนผลงาน (plagiarism) และการใช้รูปแบบการอ้างอิงที่ถูกต้องตามที่วารสารกำหนด หากไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทางวารสารจะขอให้ผู้แต่งดำเนินการแก้ไข โดยให้เวลาประมาณ 3-5 วัน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขส่งกลับมา บทความจะไม่ถูกให้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป และแจ้งกลับไปยังผู้แต่งทราบ

ในขั้นตอนต่อมา บรรณาธิการและรองบรรณาธิการวารสารจะพิจารณาสาระของบทความในเบื้องต้นว่าอยู่ในขอบเขต (scope) ของวารสารและมีคุณภาพเพียงพอที่จะส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา หากสาระของบทความไม่อยู่ในขอบเขต (scope) ของวารสารและมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา  ก็จะดำเนินการแจ้งกลับยังผู้แต่งถึงการไม่พิจารณาดำเนินการส่งบทความไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ 

ขั้นตอนการประเมินคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 

เพื่อความเป็นธรรมและความโปร่งใส ต้นฉบับบทความวิชาการหรือบทความวิจัยจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพและจริยธรรมของสาระในบทความต้นฉบับโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น จำนวน 3 ท่าน กระบวนการประเมินจะไม่เปิดเผยให้เจ้าของบทความทราบว่าใครคือผู้ประเมินและผู้ประเมินจะไม่ทราบว่าบทความนั้นเป็นของผู้ใด (Double blind) 

การพิจารณาตัดสินการรับตีพิมพ์ หรือ ปฏิเสธการรับตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านที่ลงความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพและเป็นต้นฉบับแท้จริง มิได้ผ่านการคัดลอกผลงาน  ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นกับบรรณาธิการ โดยบรรณาธิการจะส่งผลการพิจารณาไปยังผู้แต่งซึ่งอาจเป็นการตอบรับหรือการปฏิเสธการตีพิมพ์ หากเป็นการตอบรับการตีพิมพ์ ส่วนมากทางวารสารจะมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับแก้ไขซึ่งมีตั้งแต่การปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อยจนถึงการปรับแก้ไขระดับมาก ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บทความหรืองานวิจัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณชน

ขั้นตอนการประเมินต้นฉบับโดยผู้ทรงคุณวุฒิจนถึงขั้นตอนการแก้ไข พิสูจน์อักษร จนถึงการตอบรับเพื่อตีพิมพ์นั้นใช้ระยะเวลา ขึ้นกับคุณภาพของบทความหรืองานวิจัย ระยะเวลาประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ และระยะเวลาในการแก้ไขต้นฉบับของผู้แต่ง โดยประมาณใช้เวลา 2-3เดือน การปรับแก้ไขขอให้ผู้แต่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากบรรณาธิการร่วมกับการชี้แจงการปรับปรุงแก้ไขของผู้แต่ง และส่งมาพร้อมกับบทความฉบับแก้ไข ความล่าช้าในการแก้ไขบทความต้นฉบับ ทางวารสารมีความจำเป็นต้องพิจารณาตามลำดับความพร้อมของบทความในการเผยแพร่

เมื่อบทความเมื่อส่งเข้ามาในระบบ บรรณาธิการจะทำการประเมินเบื้องต้นในส่วนของสาระของบทความที่ต้องอยู่ในขอบข่ายที่วารสารสภาการพยาบาลกำหนด การคัดลอกผลงานจากแหล่งอื่น รูปแบบการเตรียมต้นฉบับที่ถูกต้องตามเกณฑ์ที่วารสารกำหนด รวมถึงการใช้รูปแบบการอ้างอิงที่ถูกต้อง และที่สำคัญคุณภาพของบทความในเบื้องต้นในระดับที่ควรได้รับการตอบรับในเบื้องต้น

ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ระบุ ทางวารสารจะดำเนินการแจ้งกลับไปยังผู้แต่งเพื่อให้ดำเนินการปรับแก้ให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่พบการแก้ไข ทางวารสารจำเป็นต้องแจ้งกลับไปยังผู้แต่งในการของดการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และสิ้นสุดการรับพิจารณาบทความ พร้อมอธิบายเหตุผล

ในกรณีที่บทความสอดคล้องตามเกณฑ์ที่กำหนด ทางวารสารจะส่งต่อไปยังผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนั้นๆ จำนวน 3 ท่านเพื่อประเมินคุณภาพของบทความ และแจ้งแก่ผู้แต่งว่ากำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความโดยมีแบบฟอร์มการประเมินตามประเภทของบทความ ได้แก่ บทความวิชาการ งานวิจัยเชิงคุณภาพ วิจัยเชิงปริมาณ การพัฒนางานจากหลักฐานเชิงประจักษ์ การทบทวนวรรณกรรมหรือการบูรณาการงานวิจัย

การประเมินคุณภาพของบทความโดยผผู้ทรงคุณวุฒิ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เห็นสมควรเผยแพร่โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม เห็นสมควรเผยแพร่แต่ต้องแก้ไขตามคำแนะนำ และเห็นสมควรปฏิเสธการรับตีพิมพ์

เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิส่งความเห็นกลับคืนมาแล้ว บรรณาธิการจะพิจารณาผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านโดยละเอียด จากนั้นจึงสรุปผลการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งกลับไปยังเจ้าของบทความ

บรรณาธิการจะตรวจสอบว่าผู้เขียนได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ให้ข้อเสนอแนะไปหรือไม่ หากไม่พบการแก้ไขโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บรรณาธิการมีความจำเป็นจะต้องแจ้งให้ผู้เขียนทราบว่าบทความนี้ "ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์"

จำนวนครั้งของการแก้ไขจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับความสมบูรณ์ของบทความ โดยทั่วไปแล้ว หากบทความมีคุณภาพ จำนวนครั้งของการแก้ไขไม่ควรเกิน 3 ครั้ง

หมายเหตุ วารสารสภาการพยาบาลไม่มีนโยบายในการรับตีพิมพ์บทความแบบเร่งด่วน