ผลของโปรแกรมการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนต่อระดับน้ำตาลสะสมในเลือดและภาวะโภชนาการ ในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในชุมชน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองชนิดสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมออกกำลังกายแบบแกว่งแขนต่อระดับน้ำตาลสะสมในเลือด และภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์การคัดเข้าถูกสุ่มอย่างง่ายรวม 44 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลอง 21 คน ได้รับโปรแกรมออกกำลังกายแบบแกว่งแขนเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ กลุ่มควบคุม 23 คน ได้รับการพยาบาลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง ด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบประเมินการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนด้วยตนเอง และรับการตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด วัดเส้นรอบเอวและดัชนีมวลกาย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสถิติสำเร็จรูป โดยใช้สถิติเชิงบรรยาย การทดสอบทีคู่ และการทดสอบทีอิสระ
ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายแบบแกว่งแขน ผู้สูงอายุกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือด และเส้นรอบเอวต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .037, p = .000 ตามลำดับ) คะแนนเฉลี่ยการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการออกกำลังกายแกว่งแขนสูงกว่าก่อนทดลอง และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .004, p = .000 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ภาวะโภชนาการจากเส้นรอบเอวและดัชนีมวลกายเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการศึกษามีข้อเสนอว่าผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานควรได้รับการเสริมสมรรถนะในการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด เส้นรอบเอว และดัชนีมวลกาย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน