การพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติและพยายามฆ่าตัวตาย ด้วยการรับประทานยาลอราซีแพมเกินขนาด

ผู้แต่ง

  • อำพันธ์ ภู่สกุล โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม

คำสำคัญ:

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ, พยายามฆ่าตัวตาย, รับประทานยาลอราซีแพมเกินขนาด

บทคัดย่อ

               ภาวะการปรับตัวผิดปกติ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรม ที่เกิดจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้มีความเครียดรุนแรงจนไม่สามารถเผชิญกับเหตุการณ์นั้นได้ อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง เช่น อารมณ์ซึมเศร้าและมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายร่วมด้วย ซึ่งกรณีศึกษาเป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 21 ปี ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญไม่รู้สึกตัวเนื่องจากรับประทานยาลอราซีแพมประมาณ 70 เม็ด ได้รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า 7 วัน และส่งต่อไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและการวางแผนพยาบาลตามกระบวนการพยาบาลในผู้ป่วยที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติและพยายาม ฆ่าตัวตายด้วยการรับประทานยาลอราซีแพมเกินขนาด ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาหรือข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลด้านร่างกาย และกิจกรรมการพยาบาลที่สำคัญ ได้แก่ (1) เสี่ยงต่อเกิดอันตรายจากฤทธิ์ของยาลอราซีแพม เนื่องจากรับประทานยาเกินขนาดและมีข้อจำกัดในการรักษา กิจกรรมการพยาบาล คือ เฝ้าระวังภาวะหัวใจเต้นช้า ชัก หยุดหายใจ (2) เสี่ยงต่อเกิดอันตรายต่อตัวเองและบุคคลอื่นเนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าว กระวนกระวาย จากผลข้างเคียงของยาลอราซีแพม กิจกรรมการพยาบาล คือ การจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและลดสิ่งกระตุ้น การดูแลให้ได้รับยานอนหลับ การผูกยึดผู้ป่วย ปัญหาหรือข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลด้านจิตใจ และกิจกรรมการพยาบาลที่สำคัญ ได้แก่ (1) พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีภาวะเครียดรุนแรงร่วมกับอารมณ์เศร้า กิจกรรมการพยาบาล คือ การเฝ้าระวังสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้ตนเองไม่สบายใจ อธิบายถึงผลกระทบของการฆ่าตัวตาย (2) แบบแผนการเผชิญปัญหาไม่เหมาะสมเนื่องจากความบกพร่องทางการปรับตัวและอารมณ์ กิจกรรมการพยาบาล คือ ประเมินวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วย และแนะนำวิธีการเผชิญปัญหาการจัดการปัญหา และการตัดสินใจเลือกวิธีการจัดการปัญหา จากการประเมินผลการพยาบาลพบว่า ปัญหาด้านร่างกายได้รับการแก้ไขหมดไปหรือมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนปัญหาทางด้านจิตใจ พบว่าผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และไม่สามารถเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม จึงส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป การวางแผนพยาบาลที่สอดคล้องกับปัญหาทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากฤทธิ์ยาและผลข้างเคียงของยาลอราซีแพม ปลอดภัยจากการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ และได้รับการส่งต่อเมื่อเกินขีดความสามารถอย่างทันเวลาก่อนเกิดอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วย

References

นราวิชญ์ จันทวรรณ. ภาวะการปรับตัวผิดปกติ [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566]; เข้าถึงได้จาก: https://www.agnoshealth.com/articles/adjustment-disorder

Legg TJ. Adjustment disorder [internet]. 2019 [cited July 2023 15]; Available from: https://www.healthline.com/health/adjustment-disorder

ทิชากร ทองกลีบ, ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ, และนที วีรวรรณ. สิ่งกระตุ้นเครียดของผู้ป่วยโรคการปรับตัวผิดปกติที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช และปัจจัยที่สัมพันธ์กับความไวต่อสิ่งกระตุ้นเครียดและพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย. เวชบันทึกศิริราช 2565; 15(2): 78-84.

ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. รายงานอัตราการฆ่าตัวตาย. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566]; เข้าถึงได้จาก: http://suicide.dmh.go.th/report/

Kang M., Galuska M.A., Ghassemzadeh S. [internet]. 2023. Benzodiazepine toxicity. [cited July 2023 15]; Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482238/

ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า. รายงานผู้ป่วยรายโรคปี พ.ศ 2563 - 2565 [internet]. 2023 [cited August 2023 5]; Available from: http://somdetdata.moph.go.th/data_sys/report_/

คณะกรรมการพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง. การพยาบาลผู้ป่วยพิษเคมี. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นายทำถูก; 2565.

Shoar N.S., Bistas K.G., Saadabadi A. Flumazenil [internet]. 2023 [cited August 2023 10]; Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470180/

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เวชศาสตร์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยยาและสารเสพติด. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัทเดอะกราฟิโกซิสเต็ม; 2563.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-28