การศึกษาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ หลังผ่านอบรมหลักสูตร ผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ของศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ หลังผ่านอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ของศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย กลุ่มตัวอย่างคือผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ของศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่เต็มใจเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 50 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า ผู้ผ่านการอบรม ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 90 อายุ 40-49 ปี ร้อยละ 38 สถานภาพโสด ร้อยละ 48 การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 42 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 42
มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 1 ปี ร้อยละ 50 ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ร้อยละ 46 มีศักยภาพโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.39, S.D.= 0.39) มีความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 54 มีศักยภาพด้านทักษะการปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุมากที่สุด อยู่ในระดับมาก ( = 4.47, S.D.= 0.52) รองลงมาด้านลักษณะที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุ อยู่ในระดับมาก ( = 4.45, S.D.= 0.44) ด้านแรงจูงใจในการดูแลผู้สูงอายุ อยู่ในระดับมาก ( = 4.40, S.D.= 0.45) และด้านอัตมโนทัศน์ในการดูแลผู้สูงอายุ อยู่ในระดับมาก ( = 4.24, S.D.= 0.48) ตามลำดับ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.