ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรคกลุ่มอาการรัดอุโมงค์ข้อมือของพนักงานธนาคาร: กรณีศึกษา พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดชลบุรี

Main Article Content

สิวิตรา คนแรง
เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์
ยุวดี รอดจากภัย
เสาวนีย์ ทองนพคุณ
ดนัย บวรเกียรติกุล

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


               การศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรคกลุ่มอาการกดรัดอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS ) ระดับการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรค CTS ตามทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) และปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรค CTS ในกลุ่มพนักงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) จังหวัดชลบุรีที่ใช้งานคอมพิวเตอร์มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ประชากรจำนวน 108 คนใช้วิธีคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive selection) เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยเป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับโรค CTS ประยุกต์จากทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) แบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรค CTS และ แบบประเมินด้านความรู้โรค CTS  มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.93 0.75 0.93 และ 0.92 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลช่วง 5-31 พฤษภาคม 2565 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s Correlation Coefficient)  และ Multiple Regression


                    ผลการศึกษา พบว่าในประชากรกลุ่มตัวอย่าง มีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพโดยรวมอยู่ระดับสูง เท่ากับ 3.06 และค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการป้องกันโรคกลุ่มอาการกดรัดอุโมงค์ข้อมือ โดยรวมอยู่ระดับปานกลาง เท่ากับ 2.73  โดยพบว่าแรงจูงใจด้านสุขภาพ (R=0.560, p<0.001) การรับรู้ถึงประโยชน์ของการปฏิบัติ (R=0.469, p<0.001) การรับรู้ความรุนแรงของโรค (R=0.449, p<0.001) การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค (R=0.430, p<0.001) และการรับรู้ต่ออุปสรรค (R=0.383, p<0.001) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรค CTS ของพนักงานธนาคาร ธ.ก.ส จังหวัดชลบุรี ได้แก่ การรับรู้ระดับสูง มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรค CTS ที่ระดับดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรค CTS ของพนักงานธนาคาร ธ.ก.ส ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชลบุรี ได้ร้อยละ 26.34

Article Details

How to Cite
คนแรง ส., วัฒนบุรานนท์ เ. ., รอดจากภัย ย. ., ทองนพคุณ เ. ., & บวรเกียรติกุล ด. . (2022). ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรคกลุ่มอาการรัดอุโมงค์ข้อมือของพนักงานธนาคาร: กรณีศึกษา พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดชลบุรี. วารสารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบูรพา, 17(2), 67–83. สืบค้น จาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/phjbuu/article/view/259924
บท
นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Articles)