ความเสี่ยงของการมีเลือดออก ภายหลังหัตถการผ่าตัดในช่องปาก เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ไม่หยุดยาแอสไพรินก่อนหัตถการ และผู้ป่วยที่ไม่ใช้ยาแอสไพริน

ผู้แต่ง

  • Soontaree Limsawan, D.D.S.
  • Chanapong Rojanaworarit, D.D.S., M.P.H.

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงของการมีเลือดออก ภายหลังหัตถการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วยไทย กลุ่มที่ไม่หยุดยาแอสไพรินก่อนหัตถการ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ยาแอสไพริน ที่รับการรักษาโดยกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง

วิธีการศึกษา: การศึกษารวบรวมข้อมูลจากเหตุไปหาผล ซึ่งเหตุการณ์เกิดในอดีต โดยใช้ข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่จำนวน 2,907 คน ที่มารับบริการผ่าตัดช่องปากตามลำดับต่อเนื่องกัน ระหว่าง 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ณ โรงพยาบาลห้วยพลู จังหวัดนครปฐม โดยผู้ป่วยจะถูกจำแนกเป็น “กลุ่มศึกษา” ซึ่งไม่หยุดใช้ยาแอสไพรินก่อนหัตถการ และ “กลุ่มเปรียบเทียบ” ซึ่งไม่มีการใช้ยาแอสไพริน ความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการมีเลือดออกในกลุ่มศึกษาเทียบกับกลุ่มเปรียบเทียบ วิเคราะห์โดยตัวแบบเชิงเส้นนัยทั่วไป เพื่อประมาณค่าอัตราเสี่ยงที่มีการควบคุมปัจจัยกวนด้านเพศ อายุ ผู้ให้บริการ ภาวะโรคเรื้อรังขากรรไกรที่เกี่ยวข้อง ชนิดหัตถการผ่าตัดในช่องปาก และตำแหน่งฟัน

ผลการศึกษา: พบการมีเลือดออกที่ไม่รุนแรง และสามารถควบคุมได้ด้วยมาตรการห้ามเลือดเฉพาะที่ไม่พบการมีเลือดออกที่เกิดขึ้นช้าภายหลังหัตถการ อุบัติการณ์สะสมของการมีเลือดออกที่เกิดขึ้นทันทีในผู้ป่วยกลุ่มศึกษาเท่ากับร้อยละ 6.6 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 0.8 ที่พบในกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อปรับอิทธิพลของตัวแปรกวน ผู้ป่วยในกลุ่มศึกษาจะเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหลังทำหัตถการ ประมาณ 6.4 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (RR=6.4, 95% CI=2.5 to 16.4, p<0.001)
สรุป: การศึกษาในบริบทนี้ระระบุความเสี่ยงต่อ การมีเลือดออกที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะเรื้อรัง และไม่หยุดยาแอสไพรินก่อนทำหัตถการผ่าตัดในช่องปาก แต่อย่างไรก็ตามหัตถการดังกล่าวสามารถทำได้อย่างปลอดภัยด้วยความระมัดระวัง การติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมมาตรการห้ามเลือดที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาแอสไพริน

Author Biographies

Soontaree Limsawan, D.D.S.

งานทันตกรรม โรงพยาบาลห้วยพลู จังหวัดนครปฐม

Chanapong Rojanaworarit, D.D.S., M.P.H.

ภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-05-22