กรณีศึกษาผู้ป่วยเด็กหญิงที่มีภาวะไส้เลื่อนของรังไข่บริเวณขาหนีบติดค้างร่วมกับการบิดขั้วของรังไข่

ผู้แต่ง

  • Orawan Puraya, M.D. กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

คำสำคัญ:

ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ, รังไข่, อัลตราซาวด์

บทคัดย่อ

            ภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ เป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก จากรายงานพบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดตั้งแต่ร้อยละ 1-13 และอาจพบสูงขึ้นได้ถึงร้อยละ 30 ในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยพบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดสูงสุดในช่วงขวบปีแรกและหนึ่งในสามของผู้ป่วยเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 3:1 ถึง 10:1

            ในผู้หญิง round ligament จะเกาะกับมดลูกบริเวณใกล้กับจุดเริ่มต้นของท่อนำไข่ ส่วนอีกข้างจะผ่านช่องขาหนีบ (inguinal canal) ไปยังอวัยวะเพศ (labia majora) ทำให้เยื่อบุช่องท้องบริเวณนี้เกิดเป็นรอยหวำเข้าไปเรียกว่า Canal of Nuck ซึ่งเทียบเท่ากับ processus vaginalis ในเพศชาย การไม่หดหายไปของ processus vaginalis จะทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบหรือเกิดถุงน้ำอัณฑะ (hydrocele) ตรงบริเวณนี้ได้ เป็นภาวะที่พบได้น้อยในเพศหญิง แต่หากเกิดภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบในเด็กหญิงขึ้นมานั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ว่าภายในถุงไส้เลื่อนนั้นมีรังไข่เป็นส่วนประกอบอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากภาวะไส้เลื่อนของรังไข่บริเวณขาหนีบจะพบว่าเกิดการติดค้าง (incarceration) ได้บ่อยถึงร้อยละ 43 ของผู้ป่วย และยังพบว่ามีโอกาสเกิดการบิดขั้วของรังไข่ได้มากถึงร้อยละ 2-33 ซึ่งหากสามารถตรวจพบได้ว่าเป็นภาวะไส้เลื่อนของรังไข่บริเวณขาหนีบติดค้างได้อย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (high frequency ultrasonography) นับเป็นเครื่องมือช่วยตรวจวินิจฉัยลำดับต้นๆ ที่เหมาะสมในการประเมินรอยโรคบริเวณขาหนีบ

            เนื่องจากภาวะดังกล่าวพบได้ไม่มากนัก หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และเลือกการส่งตรวจเพิ่มเติมที่ไม่เหมาะสมหรือล่าช้า จะทำให้วินิจฉัยโรคล่าช้าและเกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้ ดังนั้นนอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว การมีความรู้ถึงภาวะนี้ จะทำให้สามารถเลือกการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาที่เหมาะสมและทันท่วงที เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยช่วยให้วินิจฉัยแยกโรคได้ถูกต้อง และลดอันตรายที่อาจเกิดจากการวินิจฉัยผิดพลาดหรือล่าช้าได้

            บทความนี้ได้นำเสนอกรณีศึกษาภาวะไส้เลื่อนของรังไข่บริเวณขาหนีบติดค้างร่วมกับการบิดขั้วของรังไข่ในผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 4 เดือน ที่มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องก้อนบวมกดเจ็บบริเวณขาหนีบซ้าย และผลการผ่าตัดพบเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบของรังไข่ซ้ายร่วมกับการบิดขั้วของรังไข่ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก ผู้ป่วยได้รับการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง บทความนี้ได้บรรยายถึงลักษณะของไส้เลื่อนรังไข่บริเวณขาหนีบที่ตรวจพบจากเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงและความสำคัญของภาวะดังกล่าว

Author Biography

Orawan Puraya, M.D., กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ว.ว. รังสีวิทยาทั่วไป

References

1. Ravi K, Hamer DB. Surgical treatment of inguinal herniae in children. Hernia 2003;7:137-40.

2. Okada T, Sasaki S, Honda S, et al. Irreducible indirect inguinal hernia containing uterus, ovaries, and Fallopian tubes. Hernia 2012;16:471-3.

3. Rekha KP, Abdullah S, Amin MB. Diagnosis of ovary-containing indirect inguinal hernia of the canal of Nuck by ultrasound. J Enam Med Col 2017;7:39-41.

4. Yigit H, Tuncbilek I, Fitoz S, et al. Cyst of the canal of Nuck with demonstration of the proximal canal: the role of the compression technique in sonographic diagnosis. J Ultrasound Med 2006;25:123-5.

5. Yang DM, Kim HC, Kim SW, et al. Ultrasonographic diagnosis of ovary containing hernias of the canal of Nuck. Ultrasonography 2014;33:178–83.

6. Park SJ, Lee HK, Hong HS, et al. Hydrocele of the canal of Nuck in a girl: ultrasound and MR appearance. Br J Radiol 2004;77:243-4.

7. Bronsther B, Abrams MW, Elboim C. Inguinal hernias in children: a study of 1,000 cases and a review of the literature. J Am Med Womens Assoc 1972;27:522-5.

8. Ein SH, Njere I, Ein A. Six thousand three hundred sixty-one pediatric inguinal hernias: a 35-year review. J Pediatr Surg 2006;41:980-6.

9. Whonamedit? : A dictionary of medical eponyms. Anton Nuck [internet]. [n.d.] [cited 2018 Sep 10]. Available from: URL:http://www.whonamedit.com/doctor.cfm/2293.html

10. Kapur P, Caty MG, Glick PL. Pediatric hernias and hydroceles. Pediatr Clin North Am 1998;45:773-89.

11. Hennelly K, Shannon M. A 3-month-old female with an inguinal mass. J Emerg Med 2011;40:33-6.

12. Palmer LS. Hernias and hydroceles. Pediatr Rev 2013;34:457-64.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-28