รูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเพื่อฟื้นฟูความสามารถ ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา : OIMCCE Model

ผู้แต่ง

  • อวยพร จงสกุล ป.พ.ส., โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, รูปแบบการจัดการดูแล, ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง, ความสามารถของผู้ดูแลกิจวัตรประจำวัน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                          วัตถุประสงค์: โรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก มีความรุนแรงเนื่องจากทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและเกิดภาวะพึ่งพิงได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีการรักษาที่ก้าวหน้าและมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีช่องว่างในการดูแลอย่างเป็นระบบและไร้รอยต่ออยู่ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้จัดทำการวิจัยและพัฒนาซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาก่อนการพัฒนารูปแบบ 2) พัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาและ 3) ทดสอบประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการจัดการดูแลที่พัฒนาขึ้น (OIMCCE model)

                           วิธีการศึกษา: รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เป็นการทบทวนรายงานเวชระเบียน การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการตามแนวคำถามที่กำหนดไว้ กลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม และญาติผู้ดูแล จำนวน 10 คู่ และทีมสหวิชาชีพ จำนวน 9 คน เกี่ยวกับระบบการจัดการดูแลก่อนพัฒนารูปแบบ ปัญหาอุปสรรคและความต้องการการดูแล และสังเกตลักษณะการปฏิบัติงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ระยะที่2 การพัฒนารูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ทำโดยประชุมร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและทีมคณะกรรมการพัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันซึ่งพิจารณาจากปัญหาและอุปสรรคและความต้องการของผู้รับบริการ ซึ่งเป็นผลการวิจัยในระยะที่ 1 และหาแนวทางการแก้ไข ระยะที่ 3 เป็นการทดสอบประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการดูแลที่พัฒนาขึ้นต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยและความสามารถในการดูแลผู้ป่วยของญาติผู้ดูแล มีรูปแบบเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ดูแลจำนวน 60 คู่ แล้วแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คู่

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2)เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบบประเมินความสามารถในการดูแลผู้ป่วยของผู้ดูแลหลัก แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ดูแล และแบบบันทึกการตรวจสอบการปฏิบัติตามรูปแบบของทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งนี้แบบประเมินความสามารถของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ดูแลมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 และ 0.82 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ independent t-test

                              ผลการศึกษา: ผลการวิจัยในระยะที่ 1 พบว่า รูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเดิมสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคดังนี้ 1) การผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ไม่รวดเร็วหรือไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจาก การขาดแคลนจำนวนบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และ พยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินขาดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยในระหว่างการให้ยา 2) แนวปฏิบัติยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน 3) ขาดระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับบ้านจึงได้มีการนำปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวมาจัดการดูแลตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ผลการศึกษาในระยะที่ 2 ได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง OIMCCE โดยมีองค์ประกอบดังนี้ 1) การกำหนดเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ดูแลและทีมสหวิชาชีพ (objectives) 2 การทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ (interdisciplinary team) 3) การบริหารจัดการ (management) 4) การปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก (clinical practice)  5)การพัฒนาศักยภาพของญาติผู้ดูแลและระบบการจำหน่ายผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ (caregivers’ ability) และ 6) การติดตามประเมินผลอย่างชัดเจนทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน (evaluation and home visit) ระยะที่ 3 ผลการทดสอบประสิทธิผลของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น พบว่า ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากก่อนการใช้รูปแบบมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ความสามารถของผู้ดูแลหลักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ผู้ป่วยและผู้ดูแลหลักมีความพึงพอใจในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.95 (SD=0.28) ทีมสหสาขาวิชาชีพมีความพึงพอใจต่อรูปแบบร้อยละ 100 และไม่พบการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในขณะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและภายหลังจำหน่าย

                                     สรุป: ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริง มีประสิทธิผล ทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้น  มีผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยและผู้ดูแลและสามารถไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการในการพัฒนาการให้บริการผู้ป่วย  เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุน ช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

References

1. Johnson W, Onuma O, Owolabi M, Sachdev S. Stroke: a global response is needed. Bulletin of the World Health Organization. 942016. p. 634-A.

2. สถาบันประสาทวิทยา. แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันสำหรับแพทย์. กรุงเทพมหานคร: ธนาเพรส; 2562. Available from: https://www.pni.go.th/pnigoth/wp-content/uploads/2019/12/cpgforischemicstroke2019.pdf.

3. สถาบันประสาทวิทยา. แนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ธนาเพรส จำกัด; 2559. Available from: shorturl.at/dqGJM.

4. Kellett N, Drummond A, Palmer T, Munshi S, Lincoln N. Impact of transient ischaemic attack and minor stroke on daily life. International Journal of Therapy & Rehabilitation. 2014;21(7):318-23.

5. สมชาย โตวณะบุตร, สุชาติหาญไชยพิบูลย์กุล, ทัศนีย ตันติฤทธิศักดิ์, ธเนศ เติมกลิ่นจันทร, ลินดา เหลารัตนใส, จิดาภา ตรัยเจริญวงศ์. โรคหลอดเลือดสมอง. ใน: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, บรรณาธิการ. การแพทย์ไทย 2554-2557. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; มปท.

6. สุธาพร ขจรฤทธิ์. ลักษณะการกลับมาอยู่รักษาซ้ำในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.; 2547.

7. เครือวัลย์ เปี่ยมบริบูรณ์, จรูญลักษณ์ ป้องเจริญ. การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข. 2557;21(1):4-21.

8. แสงอรุณ ใจวงศ์ผาบ, ศรีวรรณ เรืองวัฒนา, ธนิตา จิตนารินทร์, กนกรัตน์ มัชชะ. การพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลลำพูน. วารสารพยาบาล. 2563;69(2):37-45.

9. สถาบันประสาทวิทยา ชมรมพยาบาลโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย. แนวทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสำหรับพยาบาลทั่วไป. ปรับปรุงครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สถาบันประสาทวิทยา; 2550.

10. กาญจนศรี สิงห์ภู่. ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอกโรคหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลศรีนครินทร์. ศรีนครินทร์เวชสาร. 2552;1(1):54-9.

11. เยาวลักษณ์ หาญวชิรวงศ์, ไพรวัลย์ พรมที, ทินวิสุทธิ์ ศรีละมัย, สุวรรณา ธาดาพิพัฒน์. การพัฒนาแผนการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพ โรงพยาบาลขอนแก่น. วารสารขอนแก่น. 2547;30(3):272-83.

12. Bisaillon S, Douloff C, LeBlanc K, Pageau N, Selchen D, Woloshyn N. Bringing innovation to stroke care: development of a comprehensive stroke unit. AXON/ L'AXONE. 2004;25(4):12-7.

13. อนงค์ ถาวร, ศศิวิมล พงษ์นิลละอาภรณ์, กฤตพัทธ ฝึกฝน. การพัฒนาระบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันโรงพยาบาลพะเยา. วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ. 2557;32(3):110-8.

14. จารุพักตร์ สุขุมาลย์พิทักษ์, วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์, พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม. การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชายในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิโดยใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม. วารสารสมาคมพยาบาลฯ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2555;30(1):32-7.

15. บรรณฑวรรณ หิรัญเคราะห์, สุภาภรณ์ ด้วงแพง, ฉันทนา จันทวงศ์. ประสิทธิผลของโปรแกรมการพยาบาลในการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบต่อการทำหน้าที่ การรับรู้ภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ. 2560;11(2):28-37.

เผยแพร่แล้ว

2020-09-30