โครงการประเมินผลการจัดบริการพยาบาลผู้สงสัยและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงพยาบาลสมุทรสาคร

ผู้แต่ง

  • กิติมา ลิ้มประเสริฐ พย.บ., โรงพยาบาลสมุทรสาคร

คำสำคัญ:

การประเมินการจัดการบริการ, บริการพยาบาลผู้ป่วยในผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, CIPP model

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลการจัดบริการพยาบาลผู้สงสัยและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงพยาบาลสมุทรสาครในด้าน กระบวนการจัดบริการพยาบาลและผลลัพธ์การจัดบริการพยาบาลผู้ป่วยในโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วิธีการศึกษา: ใช้กรอบแนวคิด CIPP model ศึกษาในกลุ่ม ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารทางการพยาบาล ผู้ให้บริการพยาบาลผู้ป่วยในและโรงพยาบาลสนาม จำนวน 27 คน และผู้มารับบริการที่เข้าพักรักษาตัวด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 75 คน เก็บข้อมูลโดยแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วย ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 17 ธ.ค. 63 ถึง 31 มี.ค. 64 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis)

ผลการศึกษา: การประเมินผลการจัดบริการพยาบาลผู้ป่วยในผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 1) ด้านโครงสร้าง พบว่าการจัดบริการพยาบาลผู้ป่วยในผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาลสมุทรสาครมีการออกแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบาย ใช้กลยุทธ์ที่เน้นการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีมและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจการดำเนินงาน ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารทั้งในด้านอัตรากำลัง ทรัพยากรต่างๆ และสวัสดิการ ค่าตอบแทนความเสี่ยงภัยที่เหมาะสม การพัฒนาศักยภาพโดยเฉพาะหลักการและแนวปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ ทำให้มีระบบบริการพยาบาลที่เหมาะสมซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ 2) ด้านกระบวนการจัดบริการพยาบาลพบว่ามีการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และจัดหาข้อมูลต่างๆที่ทันสมัยมาพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงาน มีการปรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบพยาบาลประชุมและวางแผนจัดระบบการทำงานต่อเนื่อง โดยจัดทำขั้นตอนการให้บริการพยาบาลผู้ป่วยในได้แก่การคัดกรอง ตรวจรักษา รายงานผล ส่งต่อการรักษา และการติดตามผู้ป่วย โดยมีหลักการจัดขั้นตอนการให้บริการคือ fast track และ one way flow ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติและมาตรฐานของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข 3) ด้านผลลัพธ์การจัดบริการพยาบาล ช่วง 17 ธ.ค. 63 ถึง 31 มี.ค. 64 มีการขยายเตียงเพื่อรับผู้ป่วยจาก 25 เตียง เป็น 233 เตียง เปิดโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง 2,160 เตียง ผลลัพธ์การดูแล พบผู้ป่วยเสียชีวิต 7 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มเหลือง แดง ที่ส่งต่อไปรักษา 6 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย และกลุ่มสีเขียวที่ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 โดยไม่พบการเสียชีวิต ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ        

สรุป: ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการประเมินการจัดการระบบพยาบาลผู้ป่วยในผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาลสมุทรสาครมีจุดเด่นหลายประการที่จะนำไปใช้เป็นโมเดลในพัฒนาการจัดบริการพยาบาลผู้ป่วยในเพื่อให้รับบริการได้รับการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รับบริการปลอดภัยจากการติดเชื้อ และผู้รับบริการมีความพึงพอใจ และโรงพยาบาลมีความพร้อมในการรับการระบาดโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคอุบัติใหม่ในรอบถัดไปได้

References

Stufflebeam, D.L. The CIPP Model for Evaluation. Annual Conference of the Oregon Program Evaluation Network. (OPEN), Portland. Oregon, 2003.

World Health Organization Thailand. การทบทวนร่วมการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย 20-24 กรกฎาคม 2563 [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 15 กันยายน 2564]; เข้าถึงได้จาก: https://www.who.int/ docs/default-source /searo/thailand/iar-cocid19-th.pdf

กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 15 กันยายน 2564]; เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_other/G42_1.pdf

กิตติพร เนาว์สุวรรณ, นภชา สิงห์วีรธรรม, นวพร ดำแสงสวัสดิ์. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความรุนแรงของโรคต่อบทบาทการดำเนินงานควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในประเทศไทย. วารสารสถาบันบำราศนราดูร. 2563;14(2):104–15.

นุชรี จันทร์เอี่ยม, มาลีวรรณ เกษตรทัต, พรพิมล คุณประดิษฐ์, และคณะ. การบริหารจัดการระบบบริการพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 (COVID-19) โรงพยาบาลลำพูน. วารสารโรงพยาบาลแพร่. 2021;29(1):115–28.

สมพร สังข์แก้ว, ธีรนุช ห้านิรัติศัย, บุญใจ ศรีสถิตยนรากูร. สมรรถนะพยาบาลวิชาชีพด้านการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่. วารสารสภาการพยาบาล. 2563;35(3).69–86.

เสาวภา ทองงาม, สุพิศตรา ภูมูล, รณิษฐา รัตนะรัต. การพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในหอผู้ป่วยแยกโรค โรงพยาบาลศิริราช. เวชบันทีกศิริราช. 2563;13(3). 222- 231.

เผยแพร่แล้ว

2022-06-30