การศึกษาตามรุ่นย้อนหลังเปรียบเทียบความรุนแรงของภาวะเลือดออกภายหลัง การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้อง ระหว่างการดึงคอกระเพาะปัสสาวะ ผ่านสายสวนปัสสาวะโดยใช้ลูกโป่งน้ำสะอาดปริมาณ 30 และ 50 มิลลิลิตร

ผู้แต่ง

  • ณวัฒน์ โอฬารสกุลชัย หน่วยศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • วัฒนชัย อึ้งเจริญวัฒนา หน่วยศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

คำสำคัญ:

ต่อมลูกหมากโต, ดึงคอกระเพาะปัสสาวะ, ผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้อง, เลือดออกหลังผ่าตัด

บทคัดย่อ

บทนำ: ภาวะเลือดออกภายหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีการส่องกล้อง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและอาจรุนแรงถึงขั้นให้สารเลือด การดึงคอกระเพาะปัสสาวะด้วยสายสวนปัสสาวะโดยใช้บอลลูนน้ำสะอาดเป็นหนึ่งในวิธีการช่วยลดภาวะดังกล่าวแต่ยังไม่มีงานวิจัยใดศึกษาถึงปริมาตรของบอลลูนน้ำสะอาดที่เหมาะสม งานวิจัยนี้ทำเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการดึงคอกระเพาะปัสสาวะด้วยปริมาตร 30 และ 50 มิลลิลิตร
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของภาวะเลือดออกภายหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีการส่องกล้อง ระหว่างการดึงคอกระเพาะปัสสาวะผ่านสายสวนปัสสาวะขนาด 24 Fr ด้วยลูกโป่งน้ำสะอาดขนาด 30 และ 50 มิลลิลิตร ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (retrospective cohort study) โดยเก็บข้อมูลด้านประชากร เช่น ยาโรคต่อมลูกหมากโตที่คนไข้ได้รับและข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดจากกลุ่มประชากรผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้องและได้รับการดึงคอกระเพาะปัสสาวะผ่านสายสวนปัสสาวะด้วยปริมาณ 30 หรือ 50 มิลลิลิตร ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ระหว่าง เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ถึง 2563
ผลการศึกษา: จากผู้ป่วย 211 รายที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้อง มี 189 รายที่เข้าได้กับเกณฑ์ คัดเข้า เมื่อหักกลุ่มที่เข้าได้กับเกณฑ์คัดออก 23 รายเหลือ 166 รายที่สามารถเข้าสู่วิจัยได้ กลุ่มตัวอย่างประกอบ ด้วยคนไข้ 141 รายที่ได้รับการดึงคอกระเพาะปัสสาวะด้วยปริมาณ 30 มิลลิลิตร และ 25 รายที่ขนาด 50 มิลลิลิตร ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านประชากรศาสตร์ การได้รับยารักษาต่อมลูกหมากโต ก่อนผ่าตัด ชนิดขั้วไฟฟ้าที่ใช้ และระยะเวลาในการผ่าตัดระหว่างสองกลุ่ม นอกจากนี้อัตราการล้างกระเพาะปัสสาวะ (p-value = 0.64) และการให้เลือด (p-value = 0.22) ภายหลังจากผ่าตัดก็ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป: การใช้ขนาดของลูกโป่งน้ำสะอาดที่ใหญ่ขึ้นจาก 30 เป็น 50 มิลลิลิตร ในการดึงคอกระเพาะปัสสาวะ
ภายหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้อง ไม่ส่งผลต่อภาวะเลือดออกหลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-02-22