ผลของการให้ข้อมูลย้อนกลับผลการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอย่างมีส่วนร่วมต่อคะแนนความผูกพันของมารดาและทารกในครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์: การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม
คำสำคัญ:
ผลของการให้ข้อมูลย้อนกลับ, การตรวจครรภ์ด้วยคลื่นความถี่สูง, ความผูกพันระหว่างมารดาและทารก, การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการให้ข้อมูลย้อนกลับผลการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอย่างมีส่วนร่วมต่อคะแนนความผูกพันของมารดาและทารกในครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
ระเบียบวิธีวิจัย : เก็บข้อมูลในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นที่มาตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อายุครรภ์ 16-28 สัปดาห์ โดยแบ่งกลุ่มในอัตราส่วน 1:1 แบบสุ่มเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบมีส่วนร่วมและกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบปกติ หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นจะได้รับซองคำถามและตอบแบบสอบถามให้ครบถ้วนด้วยตนเอง เพื่อประเมิน ความผูกพันของมารดาและทารกในครรภ์ (Maternal antenatal attachment scale; MAAS), ระดับความวิตกกังวล (Spielberger 1970)) และพฤติกรรมสุขภาพ โดยประเมินก่อนการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่ และตอบแบบสอบถามซึ่งมีคำถามเดิมซ้ำอีกครั้งหลังตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง 4 สัปดาห์ ตามนัดฝากครรภ์ตามปกติ
ผลการวิจัย : หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น 50 คน ถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบมีส่วนร่วม 25 คน และกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบปกติ 25 คน หลังหักหญิงตั้งครรภ์ 2 คนในกลุ่มให้ข้อมูลย้อนกลับแบบมีส่วนร่วมและ 5 คนในกลุ่มปกติ เหลือ 23 คนในกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบมีส่วนร่วม และกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบปกติ 20 คนเพื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า การตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพิ่มคะแนนความผูกพันของมารดาและทารกในครรภ์ทั้ง 2 กลุ่ม (P < 0.001) โดยกลุ่มที่ให้ข้อมูลย้อนกลับแบบมีส่วนร่วม มีคะแนนความผูกพันมากกว่าแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.001) รวมทั้งระดับความวิตกกังวลลดลง (P = 0.043)
สรุป : การให้ข้อมูลย้อนกลับผลการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอย่างมีส่วนร่วมเพิ่มคะแนนความผูกพันของมารดาและทารกในครรภ์รวมถึงลดความวิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ