การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโปรเจสเตอโรนแบบรับประทานและแบบเหน็บทางช่องคลอดในการป้องกันการคลลอดก่อนกำหนดสตรีตั้งครรภ์ที่ตรวจพบความยาวของปากมดลูกสั้น: การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ
คำสำคัญ:
คลอดก่อนกำหนด, ความยาวปากมดลูกสั้น, โปรเจสเตอโรนบทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: มีหลักฐานสนับสนุนว่าการใช้โปรเจสเตอโรนเหน็บช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความยาวปากมดลูกสั้น สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดที่ 34 สัปดาห์ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้โปรเจสเตอโรนด้วยวิธีการอื่นว่าสามารถป้องการการคลอดก่อนกำหนดที่ 34 สัปดาห์ได้หรือไม่
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการรับประทานโปรเจสเตอโรนในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความยาวปากมดลูกสั้นกว่า 25 มิลลิเมตรต่อการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เปรียบเทียบกับการเหน็บโปรเจสเตอโรนทางช่องคลอด
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ, สตรีตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 20-25 สัปดาห์ที่มาฝากครรภ์ที่หน่วยฝากครรภ์โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์จะถูกตรวจวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยจะสุ่มสตรีตั้งครรภ์ดังกล่าวจำนวน 76 คนที่วัดความยาวปากมดลูกได้สั้นกว่า 25 มิลลิเมตร และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน กลุ่มแรกได้รับโปรเจสเตอโรน 200 มิลลิกรัมไปรับประทานวันละ 1 ครั้ง และกลุ่มที่สองจะได้รับโปรเจสเตอโรน 200 มิลลิกรัมไปเหน็บช่องคลอดวันละครั้ง ตั้งแต่เริ่มวิจัยไปจนกระทั่ง 34 สัปดาห์ และรับการวัดความยาวปากมดลูกซ้ำที่ 4 สัปดาห์หลังได้รับยา ผลลัพธ์หลักคือการคลอดก่อนกำหนดที่ 34 สัปดาห์
ผลลัพธ์: ข้อมูลพื้นฐานของประชากรทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ผลของการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ของการใช้โปรเจสเตอโรนแบบรับประทานและการใช้โปรเจสเตอโรนแบบเหน็บช่องคลอดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สตรีกลุ่มที่ใช้โปรเจสเตอโรนแบบรับประทาน (จำนวน 38 คน) มี 1 คนที่คลอดก่อนกำหนดที่ 34 สัปดาห์ และมีสตรี 3 คนในกลุ่มที่ใช้โปรเจสเตอโรนเหน็บช่องคลอด (จำนวน 38 คน) ที่คลอดก่อนกำหนดที่ 34 สัปดาห์ (2.6% และ 10.5%, P-value 0.168)
สรุป: การใช้โปรเจสเตอโรนในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความยาวปากมดลูกสั้นเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในแบบรับประทานและเหน็บช่องคลอด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ