ประสิทธิภาพของการตรวจทางเซลล์วิทยาด้วยเข็มขนาดเล็ก (FNA) ในการพยากรณ์มะเร็งจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ โรงพยาบาลวารินชำราบ

ผู้แต่ง

  • วรกานต์ เจริญสวัสดิ์ Warin Chamrap hospital

คำสำคัญ:

มะเร็งต่อมไทรอยด์, หัตถการเจาะดูดด้วยเข็มขนาดเล็ก, ความไว ความจำเพาะ ความถูกต้องแม่นยำ

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล: ภาวะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นโรคของระบบต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อย หัตถการที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค คือการตรวจทางเซลล์วิทยาด้วยเข็มขนาดเล็ก (Fine needle aspiration, FNA) ประสิทธิภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษาขั้นต่อไป

วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาวิจัยรูปแบบ retrospective cohort study ที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ได้รับการทำ FNA และผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ.2562 ถึง 30กันยายน พ.ศ.2565 จำนวนทั้งหมด 204 ราย จำแนกอายุ เพศ แสดงผลเป็นร้อยละ หาประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคจากการทำ FNA โดยเทียบกับผลตรวจทางพยาธิวิทยา (histopathological diagnoses) นำมาคำนวณหาค่า sensitivity, specificity, positive predictive value, negative predictive value และ accuracy rate

ผลการศึกษา: จากผู้ป่วยที่ศึกษาจำนวน 204 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 91.2% อายุเฉลี่ย 48 ปี (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, SD=14.38) เป็นมะเร็งไทรอยด์ 59 ราย benign 145 ราย ถ้าจัดกลุ่มผลตรวจจากการทำ FNA โดยให้ C1-C2 เป็น negative และ C3-C6เป็น positive จะได้ค่าความไวหรือสัดส่วนของการตรวจพบโรคในผู้ที่ป่วยจริง ร้อยละ 54.24 (sensitivity=54.24%) ค่าความจำเพาะหรือสัดส่วนของการตรวจไม่พบโรคในผู้ที่ไม่ป่วย ร้อยละ 86.90 (specificity= 86.90%) ความน่าจะเป็นของการเป็นโรค ถ้าผลการตรวจเป็นบวก ร้อยละ 62.75 (positive predictive value = 62.75%) ความน่าจะเป็นของการไม่ได้เป็นโรค ถ้าผลการตรวจเป็นลบ ร้อยละ 82.35 (negative predictive value = 82.35%) และความถูกต้องแม่นยำร้อยละ 77.45 (accuracy=77.45%)

สรุป: การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์โดย FNA technique สามารถช่วยวางแผนการรักษาได้ดี ถ้าพบผลอ่าน FNA เป็น C3-C6 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้รักษาให้ทำการวางแผนผ่าตัดต่อมไทรอยด์ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-29