ผลของการปฏิบัติมณีเวชท่าผีเสื้อต่อการลดระยะเวลาช่วงปากมดลูกเปิดเร็ว สตรีตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรครั้งแรกในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์: การศึกษาทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มเปรียบเทียบ
คำสำคัญ:
ระยะเวลาช่วงปากมดลูกเปิดเร็ว, มณีเวชท่าผีเสื้อ, การลดความเจ็บปวด, การหดรัดตัวของมดลูกบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการปฏิบัติมณีเวชท่าผีเสื้อต่อการลดระยะเวลาการคลอดระยะที่หนึ่งในสตรีตั้งครรภ์คลอดบุตรครั้งแรก
วัสดุและวิธีการ: การทดลองแบบสุ่มในสตรีตั้งครรภ์เดี่ยวอายุระหว่าง 15-34 ปีที่คลอดบุตรครั้งแรก ซึ่งมาด้วยอาการเจ็บครรภ์คลอดและได้รับไว้ดูแลในห้องคลอดโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อายุครรภ์ระหว่าง 37-41 สัปดาห์ เมื่อปากมดลูกเปิดอยู่ระหว่าง 3-6 เซนติเมตร และยังไม่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตก สตรีตั้งครรภ์จะได้รับการสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ได้รับการสอนให้ปฏิบัติมณีเวชท่าผีเสื้อ หรือ 2.กลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานขณะรอคลอด ผลลัพธ์หลักคือระยะเวลาช่วงปากมดลูกเปิดเร็ว เปรียบเทียบโดยใช้ student t-test ผลการศึกษารองที่ทำการเก็บข้อมูล ได้แก่ ผลลัพธ์ทางมารดาเกี่ยวกับคะแนนความเจ็บปวด ความถี่ของการหดรัดตัวของมดลูกขณะปากมดลูกเปิดหมด การสูญเสียเลือดหลังคลอด และภาวะแทรกซ้อนต่อทารก
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 102 รายไม่มีความแตกต่างของลักษณะพื้นฐาน ไม่พบความแตกต่างของ ระยะเวลาช่วงปากมดลูกเปิดเร็ว รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางมารดาและทารกระหว่าง 2 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่ากลุ่มมณีเวชมีการเปลี่ยนแปลงคะแนนความเจ็บปวดซึ่งประเมินโดยใช้ตัวเลขบอกระดับความรุนแรงของอาการปวดเมื่อแรกรับจนถึงระยะปากมดลูกเปิดหมดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (มัธยฐานที่เปลี่ยนแปลง 1.0 ในกลุ่มมณีเวชเมื่อเทียบกับ 3.0 ในกลุ่มควบคุม, P<0.005) นอกจากนี้กลุ่มมณีเวชยังพบระยะห่างของการหดรัดตัวของมดลูกเมื่อปากมดลูกเปิดหมดสั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (มัธยฐาน 120.0 นาทีในกลุ่มมณีเวช เมื่อเทียบกับ 130.0 นาทีในกลุ่มควบคุม, P=0.017)
สรุป: แม้การปฏิบัติมณีเวชท่าผีเสื้อในช่วงปากมดลูกเปิดรวดเร็วจะไม่สามารถลดระยะเวลาการรอคลอดคลอดระยะที่หนึ่ง แต่มีส่วนช่วยในการลดความเจ็บปวดขณะรอคลอด อีกทั้งช่วยเรื่องความถี่การหดรัดตัวของมดลูกในขณะปากมดลูกเปิดหมด โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในครรภ์