ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาล และผลกระทบของจังหวัดแพร่ ปี 2551-2553

ผู้แต่ง

  • วาสนา เขื่อนแก้ว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่

คำสำคัญ:

อุบัติเหตุการจราจร, ช่วงเทศกาล, ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

บทคัดย่อ

               การศึกษาลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลและผลกระทบของจังหวัดแพร่ ปี 2551-2553 เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ในช่วงปี 2551-2553 ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล 8 แห่ง เอกชน 2 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และ Chi-square Test เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ อายุ ลักษณะการดื่ม/ไม่ดื่ม สุรา ลักษณะยานพาหนะ และประเภทของผู้นำส่งผู้บาดเจ็บ กับความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุจราจร และผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุจราจร

                ผลการศึกษาพบว่า อัตราการบาดเจ็บแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากอัตรา 113.5 ต่อประชากรแสนคน เป็นอัตรา 104.1 ต่อประชากรแสนคน อัตราบาดเจ็บตาย อยู่ระหว่าง 2.3-2.5 เทศกาลสงกรานต์มีอัตราบาดเจ็บมากกว่าเทศบาลปีใหม่ อำเภอหนองม่วงไข่พบอัตราบาดเจ็บต่อประชากรแสนคนมากที่สุด (417.1) รองลงมาคืออำเภอเด่นชัย (385.0) และอำเภอร้องกลาง (373.1) ผู้ปาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนมากอายุ 15-29 ปี (43.1%) และอายุ 30-59 ปี (36.6%) ผู้ปาดเจ็บร้อยละ 30.4 ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล พบบาดเจ็บรุนแรงเพียงร้อยละ 3.4 ผู้ประสบเหตุส่วนมากเป็นผู้ขับขี่ ร้อยละ 69.7 และผู้ที่ขับจี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 77.1 รองลงมาคือ รถกระบะ ร้อยละ 12.2 ถนนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือถนนในเขตชนบท (64.3%) รองลงมาเป็นถนนทางหลวง (23.9%) ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนมากถูกนำส่งไปโรงพยาบาลโดยผู้ประสบเหตุ/ญาติ (66.0%) หน่วยปฏิบัติการแพทย์พื้นฐาน (BLS) (8.5%) และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินชุมชน (FR) (8.3%) ลักษณะของการดื่มสุรา ลักษณะของผู้นำส่งผู้บาดเจ็บ มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาล ปี 2551-2553 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนความสูญเสียจากการขาดงานของผู้เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ค่ารักษาพยาบาลและค่าสูญเสียการขาดงานของผู้ป่วยและผู้ดูแล เท่ากับ 154,840,752 บาท อำเภอเด่นชัย มีค่าความสูญเสียมากที่สุดเท่ากับ 38,797,902 บาท รวมความสูญเสียเฉพาะค่ารักษาพยาบาลในแต่ละปีเท่ากับ 2.9-3.1 ล้านบาท

                ข้อเสนอแนะจากการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการ เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บโดยเฉพาะอำเภอหนองม่วงไข่ เด่นชัย และร้องกวาง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-29 ปี ที่เป็นเพศชาย และเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ในถนนเขตชนบท รณรงค์ไม่ให้มีการดื่มสุราในช่วงเทศกาล และการสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทราบและใช้บริการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น

References

บุญสม สุวรรณปิฎกกุล. สจส.เร่งรณรงค์ ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล.[ระบบออนไลน์] 2553. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553]:, 1-2. เข้าถึงได้จาก: URL http://203.155.220.217/dotat/periodical_3_2_2547/Page14-15.htm

กระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2551. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2552.

กระทรวงสาธารณสุข. สรุปรายงานการป่วย พ.ศ.2551. นนทบุรี: สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข; 2551.

กระทรวงสาธารณสุข. การประเมินผลการพัฒนาสุขภาพในช่วงสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-พ.ศ.2544). กรุงเทพฯ: บริษัทสามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด; 2546

กรมประชาสัมพันธ์. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประมวลผลข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 51-53. [ระบบออนไลน์] 2553. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553]: หน้า 1. เข้าถึงได้จาก: URL http://news.sanook.com/943330-.html

วาสนา เขื่อนแก้ว และธวัชชัย เขื่อนแก้ว. ปัจจัยที่เป็นผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจร ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2546 ของจังหวัดแพร่. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่; 2546.

กลิ่นสุคนธ์ จิวนารมณ์. สถานการณ์แนวโน้มการบาดเจ็บ เสียชีวิตและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขนส่ง จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ.2549-2551. เชียงใหม่: กลุ่มงานสนับสนุนและพัฒนาระบบบริการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่; 2552

เพ็ญประภา ศิวิโรจน์. การประเมินผลนโยบายป้องกันอุบัติเหตุจราจรของรัฐบาลในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2546 จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย; 2546.

กาญจนา ยังขาว และสุทธิลักษณ์ หนูรอด. ประเมินผลมาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก โดยใช้ข้อมูลจากระบบการเฝ้าระวัง การบาดเจ็บ เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 13. นครราชสีมา: กลุ่มระบาดวิทยา สำนักงานควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา; 2550.

สถาบันพระปกเกล้า. บทวิจัยเรื่องประเมินผลนโยบายป้องกันอุบัติเหตุจราจร. [ระบบออนไลน์] 2548 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553]: 1-2. เข้าถึงได้จาก: URL http://www.btworldlease.co.th/safety1st072P1.htm

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-27

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป