ความชุกของ Metabolic Syndrome ในแผนกผู้ป่วยนอกภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

ผู้แต่ง

  • ชวินทร์ เลิศศรีมงคล
  • ชัยสิริ อังกุระวรานนท์
  • พนิดา ธงทอง
  • พิมพ์พร พรหมคำตัน
  • วินธนา คูศิริสิน

คำสำคัญ:

Metabolic Syndrome, แผนกผู้ป่วยนอกภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

บทคัดย่อ

            Metabolic Syndrome เป็นภาวะความผิดปกติที่ประกอบด้วยกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบแข็ง (Atherosclerotic Vascular Diseases) และโรคทางเมตะบอลิซึม ในปัจจุบันมีความสนใจในการสืบค้นหาภาวะMetabolic Syndrome ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวาน การวิจัยนี่จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบความชุกและปัจจัยสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะ Metabolic Syndrome ในประชากรที่มารับการตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์สุขภาพสวนดอก แผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยทำการศึกษาย้อนหลังเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวางจากข้อมูลประวัติทางเวชระเบียนจากระบบ Suan Dok Medical Information (SMI) และแบบบันทึกการตรวจร่างกายของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ของประชากรที่ไม่มีโรคประจำตัวและมารับตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์สุขภาพสวนดอก แผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึง มกราคม 2551 จำนวน 211 คน โดยใช้เกณฑ์วินิจฉัยภาวะ Metabolic Syndrome ของ International Diabetes Federation (IDF) 2005 โดยใช้เกณฑ์เส้นรอบวงเอวของคนเอเชีย หาความชุกของภาวะ Metabolic Syndrome คิดเป็นร้อยละของประชากร และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยสุขภาพกับภาวะ Metabolic Syndrome โดยใช้ 2-sided Chi-square และ Logistic regression analysis จากการศึกษาพบความชุกของภาวะ Metabolic Syndrome คิดเป็นร้อยละ 24.6 (95%CI 19.2-30.8) โดยในเพศชายพบร้อยละ 19.7 (95%CI 11.4-30.6) เพศหญิงร้อยละ 26.9 (95%CI 20.2-34.6) และพบว่าภาวะ Metabolic Syndrome มีความสัมพันธ์กับอายุและค่าดัชนีมวลกายโดยพบความชุกของ

  Metabolic Syndrome ในคนที่อายุมากกว่า 60 ปีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 60 ปี (p-value < 0.001)และคนที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร จะมีความเสี่ยงการเกิดภาวะ Metabolic Syndrome เพิ่มขึ้นเป็น 3.2 เท่า (95%CI 1.9-5.4) ของคนที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร จากศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่าความชุกของภาวะ Metabolic Syndrome ในประชากรที่มารับการตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์สุขภาพสวนดอก แผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มีจำนวนค่อนข้างสูงถึงประมาณหนึ่งในสี่ของกลุ่มประชากรที่ศึกษา และเนื่องจากภาวะ Metabolic Syndrome นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดตีบแข็งและโรคเบาหวานซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการทำเวชปฏิบัติติ ดังนั้นแพทย์ควรให้ความสนใจสืบค้นภาวะนี้ในคนที่แม้จะยังไม่มีปัญหาการเจ็บป่วยที่ต้องการรักษา เพื่อจะได้ให้คำแนะนำและ วางแผนการดูแลแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรสูงอายุและมีดัชนีมวลกายมาก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-07-15

ฉบับ

บท

บทความวิชาการทั่วไป