การพัฒนารูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ ในโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • ดวงดาว อรัญวาสน์
  • ลักษณี ยศราวาส
  • ผดุงศิษฏ์ ชำนาญบริรักษ์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาบริบทและสถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิ้ง เพื่อพัฒนารูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน  

วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา จำนวน 100 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิ้ง ผู้ป่วยที่มารับบริการด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน แพทย์ เภสัชกร พยาบาล การศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ได้แก่ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์  ระยะที่ 2 ดำเนินการพัฒนารูปแบบ ระยะที่ 3 การทดลอง นำรูปแบบไปใช้ระยะที่ 4 ประเมินผลการพัฒนารูปแบบ  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แนวคำถามในการสนทนากลุ่ม สัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต แบบบันทึกประชุม แบบประเมินผลความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา : ระยะที่ 1 สภาพปัญหาพบว่าปัจจัยที่ทำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น คือผู้ให้บริการมีความรู้คลาดเคลื่อนเรื่องยา ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ผู้รับบริการอยากได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่สัมพันธ์กับอาการของโรคที่เกิดขึ้น  อีกทั้งผู้รับบริการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเรื่องการใช้ยา ระยะที่ 2 มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นได้รูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะ จำนวน 5 กิจกรรม ระยะที่ 3 นำรูปแบบที่ได้ไปดำเนินการในชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิ้ง ประกอบด้วย 1) การจัดทำประกาศนโยบายการใช้ยาปฏิชีวนะ 2) การทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะ 3) เสริมสร้างความรู้และความมั่นใจแก่ผู้ให้บริการ 4) จัดทำระบบการเบิกยาสมุนไพรทางเลือก 5) ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ 4 การประเมินการพัฒนารูปแบบ พบว่า ความพึงพอใจของผู้ป่วย อยู่ระดับมาก (gif.latex?\bar{X}= 4.37 SD = 0.95) การปฏิบัติของพยาบาลมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย  อีกทั้งมีแนวทางในการทำงานที่เป็นรูปธรรม

สรุปและเสนอแนะ : รูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน นำมาใช้ได้ผลดีในพื้นที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นได้  แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการในกระบวนการพัฒนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบ, ยาปฏิชีวนะ, โรคติดเชื้อ

References

นิธิมา สุ่มประดิษฐ์, เสาวลักษณ์ ฮุนนางกูร, ภาณุมาศ ภูมาศ, ภูษิต ประคองสาย. การสำรวจระบบการควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะและการส่งเสริม การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล:
ผลการศึกษา เบื้องต้น. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข , 2555 ; 6 (3) : 61- 73.

รายงานประจำปี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม : มหาสารคาม ; 2559.

บุญชม ศรีสะอาด.การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น ; 2545.

จิรชัย มงคลชัยภักดิ์ และคณะ. การศึกษาความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะของผู้รับบริการในร้านยาชุมชนจังหวัดปทุมธานี. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย,2555;
6 (2) : 91-100.

สุวัฒน์ ปริสุทธิวุฒิพร, มัณฑนา เหมชะญาติ. ปัจจัยที่มี ผลต่อพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของผู้มารับบริการในโรงพยาบาลขลุง จังหวัดจันทบุรี. วารสารศูนย์ การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิกโรงพยาบาลพระปกเกล้า 2557;31: 114-27.ศรีนครินทร์เวชสาร 2560; 32(2).

สุมาลี ท่อชู , รุ่งทิวา หมื่นปา.ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในอำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์.วารสารเภสัชกรรมไทย, 2560 ; 9 (2) .

ศิริลักษณ์ ใจซื่อ, ศศิธร เอื้ออนันต์.ผลของโครงการ Antibiotic Smart Use ต่อความรู้เกี่ยวกับการจ่ายยาปฏิชีวนะของพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดขอนแก่น.ศรีนครินทร์เวชสาร, 2560 ; 32 (2).

ทิพวรรณ วงเวียน. ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคดังกล่าวในโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา. วารสารเภสัชกรรมไทย, 2557; 6 (2) .

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-04-17