ผลของโปรแกรมการดูแลตนเองโดยวิธีหัตถบำบัดร่วมกับการแพทย์แผนไทยเพื่อลดการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • สุพรรณิการ์ วงษ์วิลา

คำสำคัญ:

โปรแกรมการดูแลตนเอง, หัตถบำบัด, การแพทย์แผนไทย, อาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน

บทคัดย่อ

          บทนำ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดที่สำคัญและพบมาก คือ อาการปวดกล้ามเนื้อบ่า ต้นคอ และศีรษะ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดและการทำงาน สามารถป้องกันแก้ไขได้ โดยการดูแลตนเองและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม

         รูปแบบและวิธีการวิจัย  การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลตนเอง    โดยวิธีหัตถบำบัด ร่วมกับการแพทย์แผนไทย   ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน จำนวน 80 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 คน ระยะเวลาดำเนินการวิจัย 12 สัปดาห์ และกลุ่มเปรียบเทียบ 40 คน ได้รับคำแนะนำตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 2 ครั้ง ก่อนและหลังการทดลอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสถิติเชิงพรรณนาได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ paired t-test และ Indepent sample t-test กำหนดนัยสำคัญที่ระดับ 0.05

          ผลการวิจัย พบว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีการรับรู้ในการปฏิบัติในระดับที่มากขึ้นกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.001) การปฏิบัติด้านการนวด การประคบสมุนไพร การบริหารร่างกาย และการประกอบกิจวัตรประจำวันอยู่ในระดับมาก เพิ่มขึ้นกว่าก่อนทดลองและเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p-value = 0.001 และระดับอาการปวดลดลงทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p-value = 0.001) ผลการกลับมารักษาซ้ำของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ย้อนหลัง 3 เดือน พบว่าผลของโปรแกรมการดูแลตนเองด้วยวิธีหัตถบำบัดร่วมกับการแพทย์แผนไทย สามารถลดการมารักษาซ้ำได้ในกลุ่มทดลอง (คิดเป็นร้อยละ 72.50, ร้อยละ 75.00 และร้อยละ 67.50) และลดการมารักษาซ้ำมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ

        สรุปผล จากการดำเนินกิจกรรมในโปรแกรมที่ศึกษาในครั้งนี้ มีผลต่อการพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบนให้ลดอาการปวดและลดการกลับมารักษาซ้ำได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป

References

คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์. DOCTOR CARE. ปวดหลังปวดกล้ามเนื้อภัยเงียบของคนทำงาน. http://webmonster.sapaan.net/general AD.html ค้นเมื่อวันที่ 23 กค.2555

สถิติศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์. งานแพทย์แผนไทยคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.

กองสุขศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาสาธารณสุข. ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคในแนวคิดทฤษฎีทางพฤติกรรมศาสตร์. หน้า 25. นนทบุรี: กองสุขศึกษา. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2542.

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

ศุภกิจ สุวรรณไตรย์. การประยุกต์ทฤษฎีความสามารถของตนเองร่วมกับการนวดแบบราชสำนักต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยปวดบ่า ต้นคอ และศีรษะ คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ กรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (สุขศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-26