สภาพแวดล้อมในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนจากไม้ จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วิภาดา พนากอบกิจ
  • กาญจณา นาถะพินธุ

คำสำคัญ:

สภาพแวดล้อมในการทำงาน, ระดับความดังเสียง, ฝุ่นขนาดที่สามารถเข้าถึงและสะสมในถุงลมปอดได้, ระดับความเข้มแสง

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้  เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนจากไม้  จังหวัดขอนแก่น  โดยทำการสำรวจ  ตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงาน  ได้แก่  ระดับความดังเสียง  ปริมาณฝุ่นขนาดที่สามารถเข้าถึงและสะสมในถุงลมของปอดได้  ระดับความเข้มแสง เปรียบเทียบกับมาตรฐาน และสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานในส่วนกระบวนการผลิตในโรงงานขนาดกลาง  จำนวน  1  แห่ง  มีผู้ปฏิบัติงานในส่วนกระบวนการผลิตจำนวน  52  คน  และโรงงานขนาดเล็ก  จำนวน  3  แห่ง  มีผู้ปฏิบัติงานในส่วนกระบวนการผลิตรวมทั้งสิ้น  จำนวน  17  คน    วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป

ผลการวิจัย  พบว่าผู้ปฏิบัติงานในโรงงานขนาดกลาง  เป็นเพศชาย  ร้อยละ  63.5   อายุเฉลี่ย  36.73±1.33  ปี  ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา  ร้อยละ  75.0  รองลง  อายุงานส่วนใหญ่  1-5  ปี  ร้อยละ  65.4    ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานขนาดเล็ก เป็นเพศชาย  ร้อยละ  94.1  อายุเฉลี่ย  44.06±3.09 ปี   ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา  ร้อยละ 84.2  และอายุงานส่วนใหญ่  1-5  ปี   ร้อยละ  76.5   ทำงานวันละ  8  ชั่วโมงต่อวัน  สัปดาห์ละ 6  วัน  ปีละ  12  เดือน  ผู้ปฏิบัติงานโรงงานขนาดกลางปฏิบัติงานหน้าที่เดียวในแต่ละแผนก    และมีการทำงานล่วงเวลา  สัปดาห์ละ  1-2  ครั้ง  ครั้งละไม่เกิน  3  ชั่วโมง  ส่วนโรงงานขนาดเล็กผู้ปฏิบัติงานทำงานหลายหน้าที่  ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ  และทำงานล่วงเวลาตามปริมาณงาน  แต่ไม่เกิน  1  ชั่วโมงต่อวัน  สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงานขนาดกลาง   มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมการทำงาน  มีการจัดอุปกรณ์ป้องกันแก่ผู้ปฏิบัติงาน  แต่ในโรงงานขนาดเล็กยังไม่มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมการทำงานและอุปกรณ์ป้องกันแก่ผู้ปฏิบัติงาน

  ระดับเสียงเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน  8  ชั่วโมง  ในโรงงานขนาดกลางมีค่าตั้งแต่  76.8-99.0  เดซิเบลเอ และโรงงานขนาดเล็กมีค่าตั้งแต่  75.1-96.4  เดซิเบลเอ  (ค่ามาตรฐานกำหนดให้มีค่าไม่เกิน  90  เดซิเบลเอ)   มีค่าความดังเสียงสูงสุด  115.2  เดซิเบลเอ  ในจุดที่มีเครื่องมือเครื่องจักรหลายตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานใกล้เคียงกันมาก โดยพบผู้ปฏิบัติงานมีอาการหูอื้อขณะทำงาน  ทั้งโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก  ร้อยละ  7.7  และร้อยละ  29.4

   ขนาดฝุ่นที่สามารถเข้าถึงและสะสมในถุงลมของปอดได้  ในโรงงานขนาดกลางมีค่าตั้งแต่  0.09-0.22  มก./ลบ.ม. และโรงงานในขนาดเล็กมีค่าตั้งแต่  0.03-0.29  มก./ลบ.ม.  ผู้ปฏิบัติงานมีอาการระคายเคืองจากฝุ่น  ร้อยละ 33.3   

ปริมาณความเข้มแสง  ในโรงงานขนาดกลางมีค่าตั้งแต่  44-710  ลักซ์ และโรงงานขนาดเล็ก  มีค่าตั้งแต่  150-1,520  ลักซ์    ในโรงงานขนาดกลางมีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน  ร้อยละ  80.0   โรงงานขนาดเล็ก  ต่ำกว่ามาตรฐาน  ร้อยละ  66.7

การเกิดอุบัติเหตุ  โรงงานขนาดใหญ่ไม่พบการเกิดอุบัติเหตุ  ส่วนในโรงงานขนาดเล็กพบผู้ปฏิบัติงานเคยได้รับอุบัติเหตุอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง  ส่วนใหญ่มีการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน   ในโรงงานขนาดเล็กพบผู้มีอาการปวดหลังและปวดเอวสูง  ร้อยละ  70.6  ไม่พบอาการเจ็บป่วยในผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสสารเคมี  ทั้งในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-10-07