ประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมายของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเมืองหนองบัวลำภู

ผู้แต่ง

  • ขวัญจิต คงพุฒิคุณ

คำสำคัญ:

มะเร็งปากมดลูก, สตรีกลุ่มเป้าหมาย, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล

บทคัดย่อ

            การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเมืองหนองบัวลำภู และเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง ทัศนคติต่อการดำเนินงาน ทรัพยากรการบริหารและกระบวนการบริหารกับประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล จำนวน 63  คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด การทดสอบไคสแควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติ( a )  = 0.05

            ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ส่วนใหญ่  อยู่ในระดับ ควรปรับปรุง ร้อยละ 56.86   ความรู้เกี่ยวกับการคัดกรองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 90.2    ทัศนคติต่อการดำเนินงานอยู่ในระดับดี ร้อยละ 74.51 เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ตำแหน่งในปัจจุบัน รายได้ ประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์การฝึกอบรม     พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย สำหรับปัจจัยด้านกำลังคน และปัจจัยด้านวัสดุอุปกรณ์      พบว่า มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย    อย่างมีนัยสำคัญ  (P=0.009)  และ ( P= 0.017 ) ตามลำดับ ส่วน ปัจจัยด้านการเงินพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมาย และกระบวนการบริหารก็พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เช่นเดียวกัน

              ข้อเสนอแนะจากการวิจัย ควรจัดให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในด้านความรู้ ทักษะตลอดจนเทคนิคและวิธีการตรวจที่มีคุณภาพถูกต้องอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้บริหารควรสนับสนุนด้านกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ ให้มีความพอเพียงและเหมาะสมต่อการดำเนินงาน

References

สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข. แผนพัฒนาการสาธารณสุขในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549). อัดสำเนา.

วิลาวรรณ รพีพิศาล. การบริหารทรัพยากรมนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:วิจิตร หัตถกร,2549.

สมพงษ์ เกษมสิน.การบริหาร. พิมพ์ครั้งที่8. กรุงเทพมหานคร:ไทยวัฒนาพานิช,2546.

ปิยธิดา ตรีเดช และศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช. การบริหารงานสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 3,2530. กรุงเทพมหานคร:คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,2530.

ผาสุก กัลย์จารึก. ผลการปฏิบัติงานให้บริการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกระดับตำบล ในจังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2542.

จิตติมา พานิชกิจ. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคหัด ของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ในจังหวัดนครสวรรค์. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2540.

เทพพนม เมืองแมน, สวิง สุวรรณ. พฤติกรรมองค์การ. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพมหานคร:ไทยวัฒนาพานิช, 2540.

วรีรัตน์ สุนทรสุข. ประสิทธิผลการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็ก ของสถานีอนามัยในจังหวัดกำแพงเพชร. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2542.

พรทิพย์ พึ่งอ่อน. ประสิทธิผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ ของสถานีอนามัย จังหวัดอ่างทอง. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2542.

หฤทัย ทบวงษ์ศรี. ปัจจัยการบริหารที่มีผลต่อการดำเนินงานของหัวหน้าสถานีอนามัยตามแผนงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจในเด็ก จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2542.

บุญเรือง ชูชัยแสงรัตน์ และคนอื่น ๆ . การพัฒนาสถานีอนามัยในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่เฉพาะ เล่ม 3. กรุงเพทมหานคร:โรงพิมพ์สงเคราะห์ทหารผ่านศึก,2539.

กาญจนา อินทรักษ์. ประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล ในจังหวัดสระบุรี วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต , สาขาบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,2545.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-10-20