ผลการส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยใช้วัฎจักรเดมมิ่ง ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลโพธิ์ชัย อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • นริศรา ศรทรง
  • เกียรติรัตน์ คุณารัตนพฤกษ์

คำสำคัญ:

วัฎจักรเดมมิ่ง, กระบวนการวางแผน ปฏิบัติตามแผน ตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม

บทคัดย่อ

          การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในเด็กวัยก่อนเรียนโดยใช้กระบวนการวางแผน ปฏิบัติตามแผน ตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม(PDCA)ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลโพธิ์ชัย  ประชากรศึกษามีจำนวน 150 คน ประกอบด้วยคณะผู้บริหารจำนวน 5 คน  ครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 5 คน ผู้ปกครอง จำนวน 70 คน และเด็กวัยก่อนเรียน จำนวน 70 คน   คณะผู้บริหารและครูผู้ดูแลเด็กได้รับกิจกรรมการอบรมในการส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยใช้กระบวนการ PDCA ของเดมมิ่ง และได้ทำการส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยใช้กระบวนการ PDCA ในศูนย์เด็กเล็ก มีการเก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง  ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2553  เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้ แบบสอบถามความรู้และการปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ปกครองของเด็กวัยก่อนเรียน   แบบบันทึกความถี่ในการบริโภคอาหารว่างของเด็กเล็ก  แบบบันทึกสภาวะทันตสุขภาพ แบบบันทึกการแปรงฟันของเด็กเล็กและแบบประเมินมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก    วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังการทดลองด้วยสถิติ Paired t-test

          ผลการศึกษา พบว่า หลังการทดลองผู้ปกครองของเด็กวัยก่อนเรียนมีคะแนนความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5.68 คะแนน( SD = 3.64)  เป็น 13.28 คะแนน(SD =2.35)  และคะแนนการปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพช่องปากสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 22.76 คะแนน (SD =2.35)  เป็น 26.12 คะแนน (SD = 1.35)  ในด้านสุขภาพช่องปากของเด็กก่อนวัยเรียน พบว่าหลังการทดลองเด็กก่อนวัยเรียนมีการแปรงฟันเพิ่มขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2.95 ครั้งต่อวัน(SD = 0.69)  เป็น 3.23 ครั้งต่อวัน(SD = 0.39)    ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณคราบฟันลดลงจาก 2.46  (SD = 0.55)  เป็น 1.24  (SD = 0.34)และความถี่การบริโภคอาหารว่างที่เสี่ยงต่อฟันผุมีค่าเฉลี่ยลดลงจาก 17.7 คะแนน (SD = 3.11)  เป็น 13.1คะแนน (SD =1.40) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)   นอกจากนี้หลังการทดลองศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขภาพช่องปากของกรมอนามัยด้วย

          การส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยใช้กระบวนการวางแผน ปฏิบัติตามแผน ตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถส่งเสริมให้ผู้บริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก  ซึ่งส่งผลให้เด็กวัยก่อนเรียนมีสุขภาพช่องปากที่ดี และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้มีแผนงาน งบประมาณ และโครงการด้านส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน

References

กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวง สาธารณสุข. โภชนาการกับฟันผุ.พิมพ์ครั้งที่

กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก;2549. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.มาตรฐานศูนย์ พัฒนาเด็กเล็ก.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : องค์การ สงเคราะห์ทหารผ่านศึก;2550.

พัชรี อินทร์อำนวย.วงจร PDCA ในยุคต่างๆ.กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ;2551.

วีระพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล. วงจรคุณภาพ PDCA .กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ลาดพร้าว;2540

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-10-20