การกำจัดสีย้อมผ้าจากน้ำเสียย้อมผ้าด้วยถ่านยางรถยนต์และแกลบดำ

ผู้แต่ง

  • สุดาภรณ์ บูรณสรรค์
  • วรางคณา สังสิทธิสวัสดิ์

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดสีในน้ำเสียย้อมผ้า ในน้ำเสีย 2 ชนิด คือ น้ำเสียสังเคราะห์ และน้ำเสียย้อมผ้า การทดลองในน้ำเสียสังเคราะห์สีไดเร็กท์ ความเข้มสี 3 ระดับ คือ 0.1, 0.2 และ 0.3 กรัม/ลิตรใช้สัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสียสังเคราะห์ (v/v)  5 ระดับ คือ 1:8, 1:4, 3:8, 1:2 และ 5:8 ทดสอบด้วยวิธีจาร์เทสต์ (Jar Test) และวัดค่าการดูดกลืนแสงทุกๆ 1 ชั่วโมง ที่ความยาวคลื่น 555 นาโนเมตร ยุติการทดลองเมื่อน้ำเสียมีความเข้มสีหลังการทดลองต่ำที่สุด หาประสิทธิภาพการกำจัดสีในรูปร้อยละของการลดลงของค่าการดูดกลืนแสง หลังจากนั้นนำสัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสียสังเคราะห์ (v/v) ที่เหมาะสมไปใช้กับน้ำเสียย้อมผ้าจากโรงย้อมผ้าไหมแห่งหนึ่งในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ทดสอบหาประสิทธิภาพการกำจัดสี พีเอช ซีโอดี สารแขวนลอย และปริมาณสารละลายน้ำทั้งหมด นำมาวิเคราะห์ด้วยค่าสถิติร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, One way ANOVA และ Bonferroni

          ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพการกำจัดสีด้วยถ่านยางรถยนต์ และแกลบดำในน้ำเสียสังเคราะห์ใกล้เคียงกัน โดยสภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดสีในน้ำเสียสังเคราะห์ความเข้มสี 0.1 กรัม/ลิตร ใช้สัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสียสังเคราะห์ 5:8 ระยะเวลาการแช่สารดูดซับ 13 ชม. ประสิทธิภาพการกำจัดสี ร้อยละ 80.66 และ 80.15 ตามลำดับ รองลงมาคือ ความเข้มสี 0.2 กรัม/ลิตร ใช้สัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสียสังเคราะห์ 5:8 ระยะเวลาการแช่สารดูดซับ 9 ชม. ประสิทธิภาพการกำจัดสี ร้อยละ 74.25 และ 70.56 ตามลำดับ และความเข้มสี 0.3 กรัม/ลิตรใช้สัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสีย สังเคราะห์ 5:8 ระยะเวลาการแช่สารดูดซับ  8  ชม. ประสิทธิภาพการกำจัดสี ร้อยละ 60.48 และ 55.25 ตามลำดับ ซึ่งความเข้มสีหลังการบำบัดไม่เป็นที่น่ารังเกียจ ส่วนประสิทธิภาพการกำจัดสีในน้ำเสียย้อมผ้า ใช้สัดส่วนสารดูดซับ : น้ำเสียย้อมผ้า (v/v) 5:8 ระยะเวลาแช่สารดูดซับ 9 ชม. ที่พีเอช 8.1 พบว่า แกลบดำมีประสิทธิภาพการกำจัดสีดีกว่าถ่านยางรถยนต์ ประสิทธิภาพการกำจัดสีร้อยละ 34.63 ส่วนค่าซีโอดี  สารแขวนลอย และปริมาณสารละลายน้ำทั้งหมด  ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นแกลบดำ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดน้ำเสียสีย้อมของสถานประกอบการที่มีปริมาณน้ำเสียไม่มาก  โดยแช่แกลบดำตามระยะเวลาที่กำหนดก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม

References

กรมโรงงาน. จำนวนโรงงานที่จะทะเบียน [ออนไลน์] 2551. [อ้างเมื่อ 20 กันยายน 2552]. จากhttp://www.thaitextile.org/th/textile_intel/document/thtidoc/article_tech.doc.

เครือข่ายสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย. ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ [ออนไลน์] 2545 [อ้างเมื่อ 18 กันยายน 2552]. จาก http://teenet.tei.or.th/knowledge/ weave2.html.

จรรยา คงฤทธิ์. การกำจัดโลหะหนัก ฟีนอล และสีย้อมผ้าออกจากน้ำเสียด้วยขี้เถ้าแกลบดำ[วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีประยุกต์]. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง; 2546.

กิติโรจน์ หวันตาหลา, ชยาภาส ทับทอง, สินศุภา จุ้ยจุลเจิม. การดูดซับสีย้อมผ้าด้วยถ่านกัมมันต์ ที่ผลิตจากถ่านหินและกะลามะพร้าว. วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2550; 10(2): 104-112.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-10-21