ผลสำรวจการรับรู้เรื่องสิทธิประโยชน์การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพ ของนักศึกษาวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • กิรณา แต้อารักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น
  • ใบศรี แสบงบาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น
  • พรรณี เลาวะเกียรติ วิทยาจารย์ชำนาญการ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

หลักประกันสุขภาพ, สิทธิประโยชน์, การรับรู้

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับระบบ หลักประกันสุขภาพของประเทศไทยของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของวิทยากัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ประชากรที่ศึกษาคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น จำนวน 171 คน ผู้วิจัยได้ใช้แบบสำรวจที่ปรับปรุงจากแบบสอบถาม การรับรู้เรื่องสิทธิประโยชน์การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ของสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ สำหรับการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดำเนินการสำรวจระหว่าง วันที่ 17-20 มกราคม 2557 ณ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น

          ผลการวิจัย พบว่า นักศึกษารับรู้ (ทราบ) การรับบริการสาธารณสุขของผู้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) น้อยในหลายประเด็นเช่นเข้าใจว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิตามกฎหมาย ร้อยละ 55.56 ทราบว่าสามารถขอเปลี่ยน สถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียน ได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ร้อยละ 17.54 รู้จักกองทุนสุขภาพตำบล ร้อยละ 36.84 รับรู้ว่าสามารถสอบถามจากหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้อง เรียนตามมาตรา50 (5) (ศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น) ร้อยละ 14.04 นักศึกษารับรู้ว่าครอบคลุมโรคร้ายแรง หรือที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง ร้อยละ 26.32 การผ่าตัดหัวใจ ร้อยละ 21.05 การปลูกถ่ายหัวใจ ร้อยละ 13.45 การปลูกถ่าย ตับในเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด ร้อยละ 16.37 รับรู้ว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคุณภาพบริการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันเกี่ยวกับการรักษา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และกรณีไตวายเรื้อรัง ร้อยละ 31.58 และ 19.30 ตามลำดับ รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวก้บสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จากข่าวทางโทรทัศน์ มากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 74.27 รองลงมาเป็นช่องทางจากโฆษณาทางโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 70.76 และรับรู้ทางสายด่วน บัตรทอง โทร.1330 ร้อยละ 8.19

         ข้อเสนอ มีดังนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น และวิทยาลัยการ สาธารณสุขสิรินธร เพิ่มการให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่นักศึกษาวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรผ่านช่องทาง ต่างๆ เช่น เพิ่มการประชาสัมพนธ์ในประเด็นที่พบว่านักศึกษายังมีความรู้ความเข้าใจน้อยอาจสนับสนุนผ่านกิจกรรมนักศึกษา ชมรมนักศึกษา หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่นักศึกษาสนใจจัดการบรรยาย/อบรม/ จัดกิจกรรมเชิงรุก ให้ความรู้แก่อาจารย์และนักศึกษา โดยให้ความรู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อเป็น การเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาในการออกไปเป็นกำลังคนด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สนับสนุนสื่อ ความรู้ต่างๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารและให้ความรู้แก่บุคลากรและนักศึกษา การร่วมมือกันในการทำ โครงการพัฒนาองค์ความรู้หรือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้ บุคลากรและนักศึกษาวิทยาลัยได้มีโอกาสสัมผัสกับสถานการณ์จริง

References

1. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. พ.ศ. 2545. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 116 ก. 2545.

2. ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ.ความคิดเห็นของผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ. 2556): กรณีศึกษาตัวอย่างบุคลากรผู้ให้บริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจาก 13 จังหวัดทั่วประเทศ;2556 .

3. พรธัช จารุพิศาลเลิศ,วิไลพร เหลืองสกุลวงศ์,ศรินยา พยัคฆภาพ. ความรู้ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรปกติ. ห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร;2550.

4. วลีรัตน์ ใจสูงเนิน. การรับรู้และการใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน: กรณีศึกษาอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการวลีรัตน์ ใจสูงเนิน. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร;2551.

5. ปรีดา แต้อารักษ์. วันรพี สมณช้างเผือก. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ข่าวสารและความพึงพอใจของบุคลากรในหน่วยบริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ 6 จังหวัดอีสานตอนบน. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2553;4(2):239-248.

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)