ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการความปวด ในผู้ป่วยวิกฤตหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม
Abstract
การศึกษาปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการความปวดในผู้ป่วยวิกฤต หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วยวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2553โดยกลุ่มแรกจำนวน 50 คน เป็นกลุ่มที่ยังไม่มีการใช้แนวปฏิบัติ และกลุ่มที่สองจำนวน53 คน เป็นกลุ่มที่มีการใช้แนวปฏิบัติ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการความปวดในผู้ป่วยวิกฤต หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม และ2) แบบรวบรวมผลลัพธ์ ประกอบด้วย การได้รับการจัดการความปวดอย่างเหมาะสมผลการบรรเทาความปวด และความพึงพอใจของผู้ป่วย ดำเนินการศึกษาตามกรอบแนวคิดการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลียวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยา
ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละของการได้รับการจัดการความปวดอย่างเหมาะสมในกลุ่มที่มีการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสูงขึ้นทุกตัวชี้วัด สำหรับผลการบรรเทาความปวด พบว่าเพียงร้อยละ 13.33 และร้อยละ 26.67 ของการประเมินโดยการซักถามในกลุ่มตัวอย่างที่สื่อสารได้ที่ยังไม่มีการใช้แนวปฏิบัติมีผลการบรรเทาความปวดลดลงทั้งหมดและลดลงมากตามลำดับ ในขณะที่ร้อยละ 21.05 และร้อยละ 47.37 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติมีผลการบรรเทาความปวดลดลงทั้งหมดและลดลงมากตามลำดับ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่สื่อสารไม่ได้ที่ยังไม่มีการใช้แนวปฏิบัติ แสดงอาการสงบและพักได้ดี ร้อยละ 88.89 ของการประเมินโดยการสังเกต ในขณะที่ร้อยละ 98.06 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติแสดงอาการสงบและพักได้ดี ค่ามัธยฐานของคะแนนความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้แนวปฏิบัติคือ 10.00 ในขณะที่ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่มีการใช้แนวปฏิบัติมีเพียง 7.70
คำสำคัญ: แนวปฏิบัติทางคลินิก การจัดการความปวด ความปวดเฉียบพลัน ผู้ป่วยวิกฤต