การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ตะกั่ว และ แคดเมียมในน้ำในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2557
คำสำคัญ:
proficiency testing, water, lead, cadmiumบทคัดย่อ
สำนักคุณภาพความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้บริการทดสอบความชำนาญการตรวจวิเคราะห์โลหะตะกั่ว และแคดเมียมในน้ำ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมการทดสอบ ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2557 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยส่งตัวอย่างที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันให้ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์และส่งผลกลับภายในระยะเวลาที่กำหนด นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้ค่า z-score ในแต่ละปีมีห้องปฏิบัติการสมาชิกมากกว่า 30 แห่ง โดยมีห้องปฏิบัติการที่วิเคราะห์ตะกั่ว และวิเคราะห์แคดเมียมต่อเนื่อง ครบทุกรอบ จำนวน 12 และ 8 แห่ง ตามลำดับ ผลการประเมินพบว่า ห้องปฏิบัติการที่วิเคราะห์ตะกั่ว 6 แห่ง และ ห้องปฏิบัติการที่วิเคราะห์แคดเมียม 5 แห่ง มีผลการตรวจวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจครบทุกรอบ คิดเป็นร้อยละ 50.0 และ 62.5 ตามลำดับ ในการวิเคราะห์แนวโน้มของคุณภาพของแต่ละห้องปฏิบัติการ จากผลการเข้าร่วมทดสอบความชำนาญอย่างต่อเนื่องที่การประเมินความสามารถใช้ค่า Standard Deviation for PT (SDPT) จากค่า SD (s) ห้องปฏิบัติการสามารถประเมินความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่องได้ โดยหาค่าร้อยละส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์รวม (% rsdpooled) ของรอบที่ผ่านมา มาใช้คำนวณค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานรวม (spooled) จะได้ค่า z-score ของแต่ละรอบใหม่ ในรายการตะกั่วทำให้พบว่าห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง หลังจากคำนวณค่า z-score ใหม่แล้ว ผลทางห้องปฏิบัติการนั้นมีค่าต่ำกว่า assigned value ทุกครั้ง ซึ่งห้องปฏิบัติการควรค้นหาสาเหตุ และแก้ไข ถึงแม้ว่าค่า z-score อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจทุกรอบก็ตาม ห้องปฏิบัติการที่วิเคราะห์แคดเมียม ทุกแห่งมีมาตรฐาน และรักษาคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ การนำผลการทดสอบความชำนาญฯ หลายครั้งอย่างต่อเนื่องมาวิเคราะห์จะบ่งชี้ได้ว่าห้องปฏิบัติการมีแนวโน้ม การตรวจวิเคราะห์ไปในทิศทางใด เพื่อที่จะได้แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โลหะในน้ำของประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมกัน
References
กรรณิกา จิตติยศรา และกัญญา พุกสุ่น. คุณภาพและความปลอดภัยของน้ำแร่ธรรมชาติที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ. ว กรมวิทย พ 2557; 56(4): 193-204.
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 157 (ลงวันที่ 24 กันยายน 2524).
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 199 (พ.ศ. 2543) เรื่อง น้ำแร่ธรรมชาติ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 6 ง (ลงวันที่ 24 มกราคม 2544).
ISO/IEC 17043:2010. Conformity assessment - General requirements for proficiency testing. Geneva, Switzerland: ISO; 2010.
ISO IEC 17025:2005. General requirements for the competence of testing and calibration laboratories. Geneva, Switzerland: ISO; 2005.
สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ. การทดสอบความชำนาญ (Proficiency testing) และการเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ (Interlaboratory comparisons), N 07 15 003. แก้ไขครั้งที่ 8. นนทบุรี : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
ISO 13528:2005. Statistical methods for use in proficiency testing by interlaboratory comparisons. Geneva, Switzerland: ISO; 2005.
Thompson M, Ellison SLR, Wood R. The international harmonized protocol for the proficiency testing of analytical chemistry laboratories (IUPAC technical report). Pure Appl Chem 2006; 78(1): 145-96.
Neter J, Wasserman W, Whitmore GA. Applied statistics. Boston, MA: Allyn and Bacon; 1978.
SOP No. 20 16 004, การสร้างและการใช้ Control Chart ในการควบคุมคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี. แก้ไขครั้งที่ 1. นนทบุรี : สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.