ผลของระยะทางกับค่าปริมาณรังสีกระเจิงจากเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และเขตสุขภาพที่ 4

ผลของระยะทางกับค่าปริมาณรังสีกระเจิงจากเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่

ผู้แต่ง

  • สุรชัย ตุ้ยด้วง สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • สุภาพร สะอาด สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

คำสำคัญ:

เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่, ปริมาณรังสีกระเจิง, ระยะทาง

บทคัดย่อ

    เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ถูกนำมาใช้ถ่ายภาพสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งในการใช้งานเครื่องจะมีปริมาณรังสีกระเจิงมากน้อยขึ้นอยู่กับเวลาการถ่ายภาพรังสี ระยะทาง และค่าเทคนิคที่ตั้ง ถ้าค่าปริมาณรังสีกระเจิงมากจะมีผลต่อสุขภาพของผู้ได้รับรังสี การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาผลของระยะทางที่ทำให้ปริมาณรังสีกระเจิงลดลงและลักษณะการลดลงของรังสีกระเจิง โดยศึกษาจากเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ที่ใช้ในสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และ 6 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 และจังหวัดสมุทรสาครในเขตสุขภาพที่ 5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 83 เครื่อง (7 ยี่ห้อ 15 รุ่น) โดยตั้งค่าเทคนิคถ่ายภาพรังสีคงที่ 80 kVp และ 32 mAs พบว่าเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ที่ทดสอบทั้งหมด มีค่าปริมาณรังสีกระเจิง (mean±SD) ที่ระยะห่าง 1 เมตร อยู่ในช่วง 2,100±1,253 μSv/hr ถึง 11,500±9,192 μSv/hr และเมื่อทดสอบที่ระยะห่าง 2 เมตร พบว่าปริมาณรังสีกระเจิงลดลงมาอยู่ในช่วง 800±0 μSv/hr ถึง 2,940±3,624 μSv/hr ในขณะที่การทดสอบที่ระยะ 3, 4 และ 5 เมตร พบว่าปริมาณรังสีกระเจิงลดลงอย่างมากซึ่งอยู่ในช่วง 256±0 μSv/hr ถึง 1,278±1,021 μSv/hr, 131±78 μSv/hr ถึง 719±575 μSv/hr และ 84±50 μSv/hr ถึง 449±387 μSv/hr ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบค่าปริมาณรังสีกระเจิงกับระยะทางที่ทำการวัด พบว่าค่าปริมาณรังสีกระเจิงจะลดลงตามระยะทางที่ทำการวัดทุกเครื่อง และรังสีกระเจิงมีลักษณะการลดลงแบบเอกซ์โพเนนเชียล พบว่าที่ระยะตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป มีค่าไม่เกินขีดจำกัดปริมาณรังสี (dose limit) ประจำบุคคล สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี ดังนั้นในการปฏิบัติงาน ควรใช้ระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร อย่างไรก็ตาม ขณะปฏิบัติงานถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ควรมีระยะห่างจากเครื่องเอกซเรย์ให้มากที่สุด

References

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. การป้องกันอันตรายจากรังสี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว; 2546

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. มาตรฐานคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์. กรุงเทพฯ: บริษัท บียอนด์ พับลิสชิ่ง; 2562

Vlachos I, Tsantilas X, Kalyvas N, Delis H, Kandarakis I, Panayiotakis G. Measuring scatter radiation in diagnostic X rays for radiation protection purposes. Radiat Prot Dosimetry 2015; 165(1-4): 382-5

Abrantes A, Rebelo C, Sousa P, Rodrigues S, Almeida R, Pinheiro J, et al. Scatter radiation exposure during mobile X-ray examinations. HealthManagement 2017; 17(1): 68-72

วสัน บุตรพา. การวิเคราะห์ปริมาณรังสีกระเจิงและการป้องกันอันตรายจากรังสีเมื่อถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่. ว กรมวิทย พ 2564; 63(3): 660-74

The 2007 Recommendations of the International Commission on Radiological Protection. ICRP publication 103. Ann ICRP 2007; 37(2-4): 9-34

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-12-2022

ฉบับ

บท

รายงานจากห้องปฏิบัติการ (Laboratory Findings)