การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจร ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา

ผู้แต่ง

  • อวยพร จงสกุล ป.พ.ส., โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
  • นารีรัตน์ อยู่สมบูรณ์ ป.พ.ส., โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
  • ศิริกุล การุณเจริญพาณิชย์ ปร.ด., วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช จังหวัดราชบุรี

คำสำคัญ:

การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ, การดูแลแบบครบวงจร, การวิจัยและพัฒนา

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อได้แก่ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจรของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และ 3) เพื่อทดสอบประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจรของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาที่พัฒนาขึ้น

วิธีการศึกษา: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (research and development research) กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการบริการในหน่วยผ่าตัดวันเดียวกลับ จำนวน 9 คน และผู้ป่วยที่มารับบริการที่หน่วยการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ จำนวน 67 คน ที่ยินดีเข้าร่วมการวิจัย โดยมีเครื่องมือวิจัย ได้แก่ ระยะที่ 1 ใช้แนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์กลุ่ม (focus group)  ระยะที่ 2 ใช้แบบบันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้นและเครื่องมือวิจัยที่ใช้  ระยะที่ 3 ใช้เครื่องมือได้แก่ 1) รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย การดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพในระยะก่อน ขณะผ่าตัดและ หลังผ่าตัด และ 2) แบบประเมินประสิทธิผล หรือผลลัพธ์การพยาบาลหลังการผ่าตัด ในด้านความวิตกกังวล ความพึงพอใจ การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อน (ปวด ตกเลือด และบวม) อัตราการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน และระยะเวลาในการฟื้นสภาพ การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการหลังจากที่ผู้ป่วยให้ความยินยอมในการเข้าร่วมวิจัยแล้ว ได้มีการดำเนินการตามการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจร ในระหว่างเดือนมกราคม–มีนาคม 2562  แล้วทำการติดตามผลลัพธ์ทางการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในระยะหลังผ่าตัดผ่านทางการตรวจติดตามผลการผ่าตัดและทางโทรศัพท์ ใช้ความถี่และร้อยละในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการวิจัย: ระยะที่ 1 พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับมีความเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด การดูแลระยะก่อนผ่าตัดที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมและไม่รู้กำหนดเวลาผ่าตัดชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยเครียดและวิตกกังวล มีจำนวนผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการผ่าตัดตามกำหนดนัด มากกว่าร้อยละ 60 และเกิดความเสี่ยงในระหว่างการผ่าตัด

ระยะที่ 2 ผู้วิจัยจึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจรของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พบว่ามีคุณภาพและ สามารถนำไปใช้ได้จริงกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด 

ระยะที่ 3 จากการนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้ พบว่า ผู้ป่วยที่มารับการบริการการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ จำนวน 67 ราย  ส่วนใหญ่มารับการรักษา โดยการผ่าตัดแก้ไขภาวะไส้เลื่อนโดยใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรู (hernioplasty with mesh graft) ร้อยละ 92.5  การผ่าตัดแก้ไขภาวะไส้เลื่อนโดยไม่ใช้แผ่นสารสังเคราะห์ ร้อยละ 4.5 มีเพียงร้อยละ 3.0 ที่มาทำการผ่าตัดถุงน้ำลูกอัณฑะ (hydrocelectomy) หลังจากได้รับการดูแลตามรูปแบบการดูแลที่สร้างขึ้นพบว่า ไม่มีภาวะวิตกกังวล, มีพึงพอใจต่อการบริการและการผ่าตัดในระดับดี, ไม่มีการติดเชื้อหลังผ่าตัด และไม่จำเป็นต้องกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน (ร้อยละ 100)  ไม่พบภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวด บวม หรือเลือดออก ส่วนการฟื้นสภาพพบว่า หลังผ่าตัด 2 ชม.สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่อาจจะมีอาการตึงแผลเล็กน้อยและยังไม่สามารถยกของหนักได้ภายใน 2 เดือน เพื่อป้องกันภาวะแรงดันในช่องท้องสูง

สรุป: รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจรของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา สามารถใช้ได้ผลดี มีข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้ คือควรมีการนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปขยายผลเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับในโรงพยาบาลอื่นๆ และทำวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบครบวงจรต่อไป

References

1. Suominen T, Turtiainen A-M, Puukka P, Leino-Kilpi H. Continuity of care in day surgical care - perspective of patients. Scandinavian Journal of Caring Sciences. 2014;28(4):706-15.
2. Tritrakarn T, Lertakyamanee J. Growth of Ambulatory Surgery and Anaesthesia in Thailand. Ambulatory Surgery. 1998;6(1998):89-91.
3. Richardson-Tench M, Brown S. Before and after same day surgery: are we responding to anxious patients' needs? ACORN: The Journal of Perioperative Nursing in Australia. 2013;26(1):24-8.
4. Division of Medical Technical and Academic Affairs. Recommendations for the development of the service system ODS (One Day Surgery). Nonthaburi: Division of Medical Technical and Academic Affairs; 2017 [cited 2019 20 September 2019]. Available from: http://203.157.39.44/uploads/E000001/b052513ab8ca5dab33f0f425f186f801.pdf.
5. Johnson K. Same day surgery: ensuring pre-admission patient preparation. Nursing Economic$. 1987;5(5):258-.
6. Gardner TF, Sr., Nnadozie MU, Sr., Davis BA, Kirk S. Patient anxiety and patient satisfaction in hospital-based and freestanding ambulatory surgery centers. Journal of Nursing Care Quality. 2005;20(3):238-43.
7. Mitchell M. Literature review: Home recovery following day surgery. Ambulatory Surgery. 2013;19(1):13-27.
8. ประภา ราชา, นพรัตน์ เรืองศรี, จารุภา คงรส. การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลนิกสำาหรับผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ โรงพยาบาลพิจิตร. วารสารการพยาบาลและสุขภาพ. 2562;13(3):1-13.
9. Primatesta P, Goldacre MJ. Inguinal hernia repair: incidence of elective and emergency surgery, readmission and mortality. International Journal Of Epidemiology. 1996;25(4):835-9.
10. Birindelli A, Sartelli M, Di Saverio S, Coccolini F, Ansaloni L, van Ramshorst GH, et al. 2017 update of the WSES guidelines for emergency repair of complicated abdominal wall hernias. World J Emerg Surg. 2017;12:37-.
11. de Miguel Ibañez R, Nahban Al Saied SA, Alonso Vallejo J, Rodríguez Canales JM, Blanco Prieto C, Escribano Sotos F. Cost-effectiveness of primary abdominal wall hernia repair in a 364-bed provincial hospital of Spain. Hernia. 2011;15(4):377-85.
12. วาโร เพ็งสวัสดิ์. การวิจัยและการพัฒนา. [Internet]. 1 [cited 10Feb.2020];1(2):1-2. Available from: https://www.tci-thaijo.org/index.php/snru_journal/article/view/10186. SNRU Journal of Science and Technology. 2552;1(2):1-12.
13. สุพรรณี กัณหดิลก, ตรีชฎา ปุ่นสำเริง, ชุติมา มาลัย. กลยุทธ์การสอนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาล. วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ. 2560;35(4):34-41.
14. Wongkietkachorn A, Wongkietkachorn N, Rhunsiri P. Preoperative Needs-Based Education to Reduce Anxiety, Increase Satisfaction, and Decrease Time Spent in Day Surgery: A Randomized Controlled Trial. World Journal Of Surgery. 2018;42(3):666-74.
15. Row TN. Review of Day Surgery cases at a One Day Surgery Centre. Ambulatory Surgery. 2018;24(3):74-6.
16. Awad IT, Chung F. Factors affecting recovery and discharge following ambulatory surgery. Canadian Journal Of Anaesthesia = Journal Canadien D'anesthesie. 2006;53(9):858-72.
17. Amornyotin S, Chalayonnavin W, Siriporn K. Recovery Pattern and Home-Readiness after Ambulatory Gastrointestinal Endoscopy. J Med Assoc Thai 2007;90(11):2352-8.
18. Mosso JL, Gorini A, de la Cerda G, Obrador T, Almazan A, Mosso D, et al. Virtual reality on mobile phones to reduce anxiety in outpatient surgery. Studies in Health Technology & Informatics. 2009;142:195-200.
19. Kouhia S, Vironen J, Hakala T, Paajanen H. Open Mesh Repair for Inguinal Hernia is Safer than Laparoscopic Repair or Open Non-mesh Repair: A Nationwide Registry Study of Complications. World Journal Of Surgery. 2015;39(8):1878-84.
20. Li J-F, Lai D-D, Zhang X-D, Zhang A-M, Sun K-X, Luo H-G, et al. Meta-analysis of the effectiveness of prophylactic antibiotics in the prevention of postoperative complications after tension-free hernioplasty. Canadian Journal Of Surgery Journal Canadien De Chirurgie. 2012;55(1):27-32.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-03