ความสำเร็จของโครงการรับยาใกล้บ้านตามมาตรการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ ในจังหวัดนครปฐม

ผู้แต่ง

  • อรอนงค์ เหล่าตระกูล ภ.ม., โรงพยาบาลนครปฐม

คำสำคัญ:

โครงการลดความแออัด, โครงการรับยาที่ร้านยา, การบริการทางการแพทย์วิถีใหม่

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลสำเร็จของโครงการรับยาใกล้บ้าน ตามมาตรการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรับยาใกล้บ้านโดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 และโครงการรับยาต่อเนื่องสุขใจปลอดภัยจากโควิด-19 

วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเพื่อประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานลดความแออัด ของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ของโครงการรับยาใกล้บ้านจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการรับยาใกล้บ้านโดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 คัดเลือกผู้ป่วยสิทธิการรักษาของ สปสช. ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช ที่ควบคุมอาการได้ดี ไปรับยายังร้านยาเครือข่ายจำนวน 8 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และโครงการรับยาต่อเนื่องสุขใจปลอดภัยจากโควิด-19 คัดเลือกผู้ป่วยนัดทุกโรค ทุกคลินิกที่มีภาวะคงที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์พิจารณาสั่งยาต่อเนื่องให้กับผู้ป่วยหรือญาติให้ไปรับยาที่คลินิกหมอครอบครัววัดไผ่ล้อมหรือร้านยาในโครงการได้ทุกสิทธิการรักษา โดยไม่ต้องเข้ามาโรงพยาบาล เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือนมีนาคม ถึง เดือนสิงหาคม 2563 วัดผลสำเร็จของโครงการด้านปริมาณจากจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลนครปฐมลดลง และอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้รับการบริการโครงการรับยาใกล้บ้าน วัดผลสำเร็จเชิงคุณภาพจากระยะเวลาในการรอรับยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาลนครปฐมลดลง และร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการเพิ่มขึ้น การประเมินโครงการนี้เป็นการประเมินตามวัตถุประสงค์โดยใช้แนวคิดของไทเลอร์ (Tyler) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วย แบบบันทึกเวลาในการรอรับยา แบบประเมินความพึงพอใจในการรับบริการ และแบบประเมินโครงการของไทเลอร์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อแสดงลักษณะของประชากรตัวอย่าง, chi-square test และ t test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลก่อนและหลังเริ่มโครงการ

ผลการศึกษา: โครงการรับยาใกล้บ้านมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 8 แห่ง และคลินิกหมอครอบครัว 1 แห่ง พบว่า หลังเริ่มโครงการมีจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลในอัตราที่ลดลงกว่าในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรับยาในโครงการทั้งหมด 2,037 ใบสั่งยา คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของใบสั่งยาผู้ป่วยนอกทั้งหมด ระยะเวลารอรับยาเฉลี่ยของผู้ป่วยนอกระหว่างดำเนินโครงการรับยาใกล้บ้านต่อเนื่อง 6 เดือน ลดลงจากก่อนเริ่มโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ความพึงพอใจของผู้รับบริการเฉลี่ยทั้ง 3 หัวข้อการประเมิน ได้แก่ การประเมินลักษณะภายนอกของห้องยา ความถูกต้อง ความรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ และการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยโดยรวมระหว่างดำเนินโครงการต่อเนื่อง 6 เดือน มีค่าสูงกว่าก่อนเริ่มโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

สรุป: ผลสำเร็จจากโครงการทั้งสองสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีผลกระทบเชิงลบบางอย่างที่ส่งผลต่อผู้รับบริการบ้าง แต่ผู้ดำเนินโครงการได้มีการติดตามประเมินและหาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

References

1. กระทรวงสาธารณสุข. แผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 13 ตุลาคม 2563]; เข้าถึงได้จาก: URL: http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/plan_ops64.pdf
2. กลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ โรงพยาบาลนครปฐม.รายงานประจำปี 2562 โรงพยาบาลนครปฐม. 2562.
3.กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย). คู่มือการดำเนินงานโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการประทรวงสาธารณสุข สำหรับ สปสช.เขต. ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยร้านยาแผนปัจจุบันฯ; วันเดือนปี ที่จัดประชุม; โรงแรมโรงแรมมิราเคอร์แกน คอนเวนชั่น กรุงเทพ. กรุงเทพฯ; 2562.
4. Ralph W.Tyler. Basic Principle of Curriculum and Instruction.1943; 126-28.
5. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. ระบบข้อมูลจากยาตามใบสั่งแพทย์, 2563 [เข้าถึงเมื่อ 21ตุลาคม 2563]; เข้าถึงได้จาก: https://prescription.nhso.go.th/Prescription/home.
6. กิตติยา ปิยะศิลป์, นิสรา ศรีสุระ, ดารณี อนุสรณ์ธีระกุล. ผลลัพธ์ของโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ โมเดลจังหวัดขอนแก่น ปี 2562-2563. [เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563]; เข้าถึงได้จาก:
https://www.kkh.go.th/ผลลัพธ์ของโครงการรับยา/
7. สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. ความคืบหน้า 4 เดือนโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน “91 รพ. 750 ร้านยา” เข้าร่วม. [เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563]; เข้าถึงได้จาก: https://www.hfocus.org/content/2020/02/18518.

เผยแพร่แล้ว

2021-06-29