ประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรต่อการร่วมรักษา ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย โรงพยาบาลนครปฐม

ผู้แต่ง

  • ดารารัตน์ รัตนรักษ์ พ.บ., ปร.ด. โรงพยาบาลนครปฐม
  • รุจิรา เข็มเพชร พ.บ., โรงพยาบาลนครปฐม
  • อุษณีย์ พูลวิวัฒนกูล พ.บ., โรงพยาบาลนครปฐม
  • สิรีธร นิมิตวิไล พ.บ., โรงพยาบาลนครปฐม
  • อรอนงค์ เหล่าตระกูล ภ.ม., โรงพยาบาลนครปฐม
  • ปิยะวรรณ ศรีมณี ภ.ม., โรงพยาบาลนครปฐม

คำสำคัญ:

ฟ้าทะลายโจร, สารแอนโดรกราโฟไลด์, โควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัย ของฟ้าทะลายโจรขนาดสูงและขนาดมาตรฐาน ในรูปแบบผงอัดแคปซูลและแบบสกัด เทียบกับกลุ่มควบคุม ต่อการร่วมรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงน้อย

          วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟ้าทะลายโจร 4 รูปแบบ ในการใช้เป็นยาร่วมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อยและไม่ได้รับยาต้านไวรัส เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ณ โรงพยาบาลนครปฐม ระหว่าง เดือนธันวาคม 2563 ถึง เดือนมกราคม 2564 สุ่มกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม โดยวิธี block sampling กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร กลุ่มศึกษาอีก 4 กลุ่ม ได้รับการรักษาตามมาตรฐานร่วมกับฟ้าทะลายโจรรูปแบบต่างๆ ดังนี้ ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ฟ้าทะลายโจรสกัด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน นานติดต่อกัน 5 วัน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อแสดงลักษณะของประชากรตัวอย่าง ชนิดของอาการไม่พึงประสงค์ chi-square test, t test และ one-way ANOVA ใช้เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของอาสาสมัคร ระยะเวลาการหายของโรคโควิด-19 และระยะเวลาการหายของแต่ละอาการ กำหนดให้ค่า p-value < .05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการศึกษา: มีอาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษา 57 ราย อายุเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มคือ 37.15–41.83 ปี ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุม จำนวน 13 ราย กลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับยาฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน จำนวน 12 และ 13 ราย กลุ่มที่ 4 และ 5 ได้รับยาฟ้าทะลายโจรสกัด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน จำนวน 9 และ 10 ราย ตามลำดับ ผลการศึกษาด้านประสิทธิผล พบว่า อาสาสมัครที่ได้รับฟ้าทะลายโจรทุกรายเริ่มมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันแรกของการใช้ยา และไม่พบอาการแสดงใดๆ ตั้งแต่วันที่ 7 ของการเข้าร่วมในการศึกษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่พบอาการแสดงในวันที่ 7 เพียงร้อยละ 53.8 ผลต่างของค่าเฉลี่ย VAS แต่ละอาการ  เมื่อเวลาก่อนและหลังได้รับยาฟ้าทะลายโจร 5 วัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีระยะเวลาของอาการโควิด-19 สั้นกว่า และมีประสิทธิผลในการลดน้ำมูก ความรุนแรงในการไอ ความถี่ในการไอ ลดปัญหาการรับกลิ่นได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรทั้ง 2 รูปแบบ พบว่า ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูลมีประสิทธิผล ในการลดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และลดน้ำมูกได้ดีกว่าฟ้าทะลายโจรสกัด ในขณะที่ฟ้าทะลายโจรสกัดให้ประสิทธิผลลดอาการเจ็บคอ ลดความถี่และความรุนแรงในการไอ และลดปัญหาการรับรสรับกลิ่นได้ดีกว่าในกลุ่มฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ให้ผลลดความถี่ในการไอได้ดีกว่าขนาด 60 มิลลิกรัมต่อวัน ผลการศึกษาด้านความปลอดภัย  พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการท้องเสียและปวดแสบกระเพาะอาหารจากการใช้ฟ้าทะลายโจรผงอัดแคปซูล 180 มิลลิกรัมต่อวัน และฟ้าทะลายโจรรูปแบบสกัดทั้งขนาด 60 และ 180 มิลลิกรัมต่อวัน

สรุป: ฟ้าทะลายโจรช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิด-19 มีประสิทธิผลในการลดน้ำมูก ความรุนแรงในการไอ ความถี่ในการไอ และลดปัญหาการรับกลิ่นได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม

References

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. สถาบันวิจัยสมุนไพร. มาตรฐานสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจร. กรุงเทพฯ:องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2542: 42-54.
2. Xiao-Yang Hu, Ruo-Han Wu, Martin Logue, et al. Andrographis paniculata (Chuan Xin Liaan) for symptomatic relief of acute respiratory tract infections in adults and children: A systematic review and meta-analysis. PLoS ONE. 2017;12(8): e0181780. doi: 10.1371/journal.pone.0181780.
3.Wagner L, Cramer H, Klose P, et al. Herbal Medicine for Cough: a Systematic Review and Meta-Analysis. Forsch Komplementmed. 2015;22(6):359-68. doi: 10.1159/000442111.
4. สุภาพร ภูมิอมร. ผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ andrographolide ต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Plaque reduction assay ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019.กรุงเทพฯ: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข; 2564: 8-9.
5.Cáceres DD, Hancke JL, Burgos RA, et al. Use of visual analogue scale measurements to assess the effectiveness of standardized Andrographis paniculata extract SHA- 10 in reducing the symptoms of common cold. A randomized double blind-placebo study. Phytomedicine. 1993; 6(4): 217-23. doi: 10.1016/S0944-7113(99)80012-9.
6.Nosál'ová G, Majee SK, Ghosh K, et al. Antitussive Arabinogalactan of Andrographis paniculata demonstrates synergistic effect with andrographolide. Int J Biol Macromol. 2014; 69: 151–7. doi: 10.1016/j.ijbiomac.2014.05.030.

เผยแพร่แล้ว

2021-06-29