การศึกษาบทบาทของเภสัชกรประจำชุมชน ภายใต้โครงการรับยาใกล้บ้านจังหวัดนครปฐม

ผู้แต่ง

  • วีระศักดิ์ เหล่าตระกูล ภ.ม., สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครปฐม 

คำสำคัญ:

เภสัชกรประจำชุมชน, โครงการรับยาใกล้บ้าน

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาบทบาทและความต้องการของเภสัชกรชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการรับยาใกล้บ้าน ความเชื่อมั่น ความพึงพอใจของเภสัชกรต่อระบบงานเครือข่าย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคจากการให้บริการ

วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการวิจัยรูปแบบการสำรวจ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสม ประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ซึ่งเป็นเภสัชกรผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปฏิบัติงานในร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ที่เข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้านจังหวัดนครปฐม ร้านยาเปิดให้บริการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดเวลาเปิดบริการ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม 2565  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามบทบาทของเภสัชกรในโครงการรับยาใกล้บ้าน  แบบสำรวจความเชื่อมั่น และความพึงพอใจต่อระบบงานเครือข่าย โดยใช้การวัดแบบมาตราส่วนประมาณค่า เป็นมาตราวัดทัศนคติ มี 5 ระดับ ตั้งแต่ 1 ถึง 5 แบบสัมภาษณ์ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะและความต้องการ ในการดำเนินโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลโปรแกรม SPSS เพื่อแสดงลักษณะของประชากรตัวอย่าง

ผลการศึกษา: โครงการรับยาใกล้บ้านมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 8 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองจำนวน 6 แห่ง อำเภอนครชัยศรี 1 แห่ง และอำเภอสามพราน 1 แห่ง เภสัชกรในร้านยาที่เข้าร่วมโครงการมีสัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง คือ 1 ต่อ 1 อายุเฉลี่ย 42.63 + 13.98 ปี ร้อยละ 87.5 เป็นเภสัชกรเจ้าของกิจการมีประสบการณ์การทำงานในร้านยาเฉลี่ย 11.63 + 11.77 ปี จำนวนผู้รับบริการในร้านยาเฉลี่ย 77.50 + 26.59 รายต่อวัน เป็นผู้รับบริการโครงการรับยาใกล้บ้าน 6.63 + 6.37 รายต่อวัน ระยะเวลาเฉลี่ยในการให้บริการโครงการรับยาใกล้บ้าน 11.25 + 5.82 นาทีต่อราย ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการมีการเพิ่มมาตรการในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง สำหรับโรคโควิด-19  ได้แก่ การวัดอุณหภูมิ ซักประวัติความเสี่ยง บุคลากรมีการป้องกันตนเองในการดูแลผู้ป่วย เช่น ใส่หน้ากากอนามัย face shield สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ มีการจัดโซนการนั่งของผู้มารับบริการตามหลักการรักษาระยะห่าง รูปแบบในการบริหารจัดการด้านยาเป็นไปตามโมเดลที่ 1 คือ โรงพยาบาลจัดยาให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย และนัดรับยายังร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ผลสำรวจบทบาทของเภสัชกรต่อกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรม ด้านการบริการเภสัชกรรมขั้นพื้นฐานในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.73 + 0.65 คะแนน) ด้านบริการเสริมในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 2.73 + 1.12 คะแนน) และด้านการบริหารคลังยาอยู่ในระดับน้อย (คะแนนเฉลี่ย 2.25 + 1.44 คะแนน) ระดับความเชื่อมั่นในระบบงานเครือข่ายในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.50 + 0.75 คะแนน) ระดับความพึงพอใจในระบบงานเครือข่ายในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 3.29 + 0.83 คะแนน) พบปัญหาและอุปสรรคเรื่องความราบรื่นในการติดต่อประสานงาน ความเชื่อมั่นของผู้ป่วยต่อการเข้ารับบริการรับยายังร้านยา และความยุ่งยากในการสมัครเข้าร่วมโครงการของร้านยา ความต้องการหรือคาดหวังของเภสัชกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ การเพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการ ปรับระบบการจัดส่งยา นัดรับยา การเข้าถึงฐานข้อมูลด้านยาและสุขภาพที่จำเป็นของผู้ป่วย การประสานงานในเครือข่าย และระบบการบันทึกข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนลดขั้นตอนการทำงาน

สรุป: เภสัชกรในโครงการรับยาใกล้บ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับบทบาทด้านการบริการเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน รองมาคือด้านการบริการเสริม และการบริหารคลังยาตามลำดับ การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องในด้านบริการขั้นพื้นฐาน งานบริบาลเภสัชกรรม ตลอดจนด้านการบริการเสริม จะช่วยส่งเสริมให้โครงการรับยาใกล้บ้านเป็นหนึ่งในงานสาธารณสุขมูลฐานที่สำคัญต่อไป

References

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย). คู่มือการดำเนินงานโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการประทรวงสาธารณสุข สำหรับ สปสช. เขต. ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยร้านยาแผนปัจจุบันฯ; โรงแรมโรงแรมมิราเคอร์แกน คอนเวนชั่น. กรุงเทพฯ; 2562.

บุรินทร์ต ศรีวงษ์, พิชญาภรณ์ พงศ์พุทธางกูร, ศิรภัสสรม วิเศษวิทย์สกุล, และคณะ. ความคาดหวังของเภสัชกรชุมชนต่อการปฏิบัติงานในร้านยาเดี่ยว. Thai Bull Pharm Sci. 2019;14(2):31–45.

ณัฐภรณ์ ทรงสิริสุข, นิลวรรณ อยู่ภักดี. การสำรวจกิจกรรมการปฏิบัติงานเชิงวิชาชีพของเภสัชกรในร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วประเทศไทย. วารสารเภสัชกรรมไทย. 2017;9(2):307–20.

กิตติยา ปิยะศิลป์, ภญ.นิสรา ศรีสุระ, ภญ.ดารณี อนุสรณ์ธีระกุล, และคณะ. ผลลัพธ์ของโครงการรับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ โมเดลจังหวัดขอนแก่น ปี 2562–2563 [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563]; เข้าถึงได้จาก: URL: https://www.kkh.go.th/ผลลัพธ์ของโครงการรับยา/

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”. รายงานฉบับสมบูรณ์(Final Report) ผลการสำรวจข้อมูลและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกรมการแพทย์ ในโครงการพัฒนาการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of Medical Services) ในสถานพยาบาลแต่ละระดับ จังหวัดปัตตานี ปี 2563. ปัตตานี: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์; 2563:1–185.

เผยแพร่แล้ว

2022-09-29